Results 1 to 2 of 2

Thread: วิตามินเสริมของมหาวิทยาลัยที่ดี

  1. #1
    Administrator asylu3's Avatar
    Join Date
    Jun 2000
    Location
    Thailand
    Posts
    3,557


    วิตามินเสริมของมหาวิทยาลัยที่ดี

    "การเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ใช่การมีการศึกษา หากเป็นการเตรียมตัวไปสู่การมีการศึกษา"

    "การเรียนจบมหาวิทยาลัยมิใช่การเรียนจบ หากเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนจบ" ประโยคเหล่านี้อาจได้ยินกันบ่อยๆ จนอาจรู้สึกสับสนว่าจริงๆ แล้วเรียนมหาวิทยาลัยไปเพื่ออะไร


    ถ้าถามคนเดินถนนทั่วไปหรือนักเรียนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็คงจะได้คำตอบส่วนใหญ่ว่าเพื่อจะได้เป็นคนมีการศึกษา มีงานที่ดีๆ ไม่หนักทำ มีรายได้ดี ได้รับการยอมรับจากสังคม มีชีวิตที่สุขสบาย ช่วยให้ครอบครัวมีโอกาสและฐานะดีขึ้น ฯลฯ


    คำตอบเหล่านี้ไม่ผิดแน่นอน แต่ถ้ามหาวิทยาบัยใดให้ปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้เกิดเพียงสิ่งเหล่านี้ตามที่ต้องการเท่านั้น ก็คงจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่น่าไปเรียนนัก โรงเรียนอาชีวะบางโรงเรียนในบางสาขาอาจให้ได้มากกว่าด้วยซ้ำ


    สองสิ่งที่มหาวิทยาลัยสามารถให้และอำนวยให้เกิดสิ่งที่ต้องการดังกล่าวได้ก็คือความรู้(KNOWLEDGE-K) และทักษะ(SKILLS-S) ซึ่งถ้าหากเป็นไปอย่างครบถ้วนตามกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ก็จะได้รับปริญญา


    ความรู้คือการเข้าใจข้อมูลสนเทศเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจได้มาจากการเรียนรู้ หรือประสบการณ์ เช่น ความรู้ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคืออะไร มีนัยสำคัญอย่างไร NANOTECHNOLOGY คืออะไร จะมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อโลก ความรู้เรื่องกฎหมาย ความรู้ในการออกแบบและก่อสร้างอาคาร ความเข้าใจเรื่องการพยากรณ์อากาศ ฯลฯ


    ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ มหาวิทยาลัยให้อย่างแน่นอนและให้มากด้วยในมหาวิทยาลัยไทยด้วยการป้อน โดยนักศึกษาไม่ต้องดิ้นรนมากนักจนเป็นนิสัย หน้าที่ให้ความรู้เป็นหน้าที่สำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัย เพื่อผู้เรียนสามารถเอาความรู้ไปประกอบอาชีพ หารายได้ต่อไป


    อีกสิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยต้องให้คือทักษะ ซึ่งหมายถึงการทำให้นักศึกษาสามารถทำบางสิ่งได้ในระดับหนึ่งอย่างน่าพอใจ เช่น มีทักษะในการคิด ใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ญี่ปุ่นไม่ว่าเขียนพูดอ่าน ในระดับที่สามารถใช้งานได้ในระดับหนึ่ง มีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมสำเร็จรูป ตลอดจนมีทักษะในการใช้ประโยชน์จาก IT ไม่ว่าในการค้นหาข้อมูล ติดต่อสื่อสารและนำมารับใช้งานที่ทำอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


    สอง ทักษะที่สำคัญยิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องทำให้เกิดขึ้นแก่ผู้จบไปทุกคนก็คือ ทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษ(ENGLISH LITERACY) และทักษะในการใช้ประโยชน์จาก IT (IT LITERACY) ในระดับหนึ่งที่น่าพอใจ


    ถ้าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่น่าไปเรียนนั้น นอกเหนือไปจากสองสิ่งคือความรู้ และทักษะแล้ว มหาวิทยาลัยจะต้องทำให้เกิดอีกสามสิ่งในตัวผู้จบไปคือ ทัศนคติ(ATTITUDE-A ) พฤติกรรม(BEHAVIOR- และคุณค่าที่ให้แก่สิ่งต่างๆ (VALUE-V)


    ทัศนคติของมนุษย์เปรียบเสมือนไฟนำทางชีวิตถ้าคิดว่าการทำงานเป็นหน้าที่และสิ่งที่งดงาม เขาก็จะทำงาน ถ้าเขาคิดว่าการทำงานเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นเรื่องหนักที่พึ่งหลีกเลี่ยง เขาก็จะพยายามหาหนทางทำงานให้น้อยที่สุด


    นักศึกษาจำนวนไม่น้อยเมื่อเรียนมหาวิทยาลัยก็มักคิดดูถูกพ่อแม่หรือคนอื่นที่ไม่เคยมีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัยว่าโง่เขลาอับอายสภาพและฐานะของครอบครัวตนเอง มีทัศนคติในการมองชีวิตที่ผิด คิดว่าความหรูหรา หาความสุขใส่ตัวคือสรณะของชีวิต


    มหาวิทยาลัยจะต้องสร้างทัศนคติที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตแก่นักศึกษา สอนให้รู้จักความพอเพียง ความมัธยัสถ์ในการใช้ทรัพยากรของตนเองและของโลก เข้าใจโลกอย่างที่คนมีปัญญาพึงเข้าใจ มีทัศนคติที่มองโลกอย่างยอมรับความเป็นจริงของตนเอง มีทัศนคติที่ดีต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณ และมีทัศนคติในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฯลฯ


    การมีทัศนคติที่ผิดๆ ยามออกไปจากมหาวิทยาลัยก็เท่ากับมีไฟนำที่หลงทาง และไม่มีอะไรที่น่ากลัวเท่ากับการเดินไปในเส้นทางที่ผิด โดยเข้าใจว่าเป็นหนทางที่ถูก


    การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักศึกษาเป็นหน้าที่ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ดี ที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต และอนาคตของลูกหลานคนอื่นที่เชื่อใจและศรัทธาจนยอมเสียสละเงินทองมากมายส่งเสียให้เรียนต้องทำให้เกิดการประพฤติตนในกรอบศีลธรรม จริยธรรม มีความขยันหมั่นเพียร มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและผู้อื่น มีความบากบั่นอุตสาหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีพฤติกรรมในการใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความทะเยอทะยานที่จะทำให้ชีวิตตนเองและครอบครัวดีขึ้นและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม และสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้ ฯลฯ


    พฤติกรรมเหล่านี้ เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดขึ้นเพราะมหาวิทยาลัย เป็นปลายน้ำของเยาวชนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตในทิศทางอื่นมานานพอควร อย่างไรก็ดีมหาวิทยาลัยที่ดี ต้องพยายามสร้างบรรยกาาศและเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม ด้วยการพร่ำสอนโดยตรงโดยอ้อมและด้วยกิจกรรมและกีฬาของนักศึกษา


    นักศึกษาจำนวนไม่น้อยมีภาพพจน์ของตนเองที่ไม่ดีนักเข้าใจว่าตนเองไม่ฉลาด หัวไม่ดี ไม่เก่ง ไม่ต้องรักตัวเองมากนักก็ได้เพราะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีคุณค่ามากนัก


    นักศึกษาเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าความเก่งไม่ได้มีอยู่อย่างเดียวคือการคิด วิเคราะห์ ความเก่งอย่างอื่นที่สำคัญเช่นเดียวกันและอาจมีอยู่ในตัวของตนเองมากกว่าคนอื่นๆ ที่ตนคิดว่า "เก่ง" ก็ได้ เช่น เก่งในเรื่องมนุษยสัมพันธ์ เก่งในเรื่องศิลปะ เก่งในเรื่องกีฬา เก่งในเรื่องโน้มน้าวใจคน เก่งในเรื่องภาษา ฯลฯ นักศึกษาเหล่านี้ไมรู้ว่าโลกใบนี้ของเราทำงานและไปได้ดีทุกวันก็เพราะคนปานกลางทั้งหลายนี่แหละ เพราะเป็นประเภทที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก


    สิ่งสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือคุณค่าที่ให้แก่สิ่งต่างๆ คุณค่าเดิมๆ เช่น คนรวยทำอะไรไม่น่าเกลียด มีเงินเขาเรียกน้องมีทองเขาเรียกพี่ ทำอย่างไรก็ได้ขอให้รวยแล้วทุกอย่างจะไปได้ดี ปลาใหญ่ย่อมกินปลาเล็ก ที่ของผู้หญิงคือครัวและเตียงนอน ฯลฯ


    การเปลี่ยนแปลงของ VALUE นั้นจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เสมอในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะไปในทิศทางใดก็ตาม เพราะการเข้าใจสังคมของมนุษย์ไม่เคยหยุดนิ่ง เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่ดี ที่จะต้องมีบทบาทในการสร้าง VALUE ที่เหมาะสมแก่นักศึกษา เพื่อให้เป็นพลเมืองที่ดีของประชาสังคมต่อไป


    สารอาหาร K(ความรู้) และสารอาหาร S(ทักษะ) เป็นสิ่งจำเป็นของร่างกายที่มหาวิทยาลัยต้องให้ แต่ถ้าหากขาดการเสริมวิตามิน A(ทัศนคติ) B(พฤติกรรม) และ V(คุณค่าที่ให้แก่สิ่งต่างๆ) แล้วก็จะผลิตบัณฑิตที่มีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ออกมาอย่างแน่นอน


    มหาวิทยาลัยที่ดีต้องทำให้วัตถุดิบปานกลางกลายเป็นของชิ้นดี และวัตถุดิบที่ดีกลายเป็นของชั้นเลิศ มีความรู้ ความสามารถ มีวิจารณญาณที่ดี มีความใฝ่รู้ มีทัศนคติในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และมีความพอเพียง มีกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ตามค่านิยมไทยและมีทัศนคติที่ดีในการสร้างสรรค์พัฒนาสังคม

  2. #2
    Junior Member
    Join Date
    Sep 2002
    Location
    United States
    Posts
    9


    Re: วิตามินเสริมของมหาวิทยาลัยที่ดี

    คงเป็นเรื่องยากที่สร้างระบบขึ้นมาระบบนึงและโดยให้ระบนั้นไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเลย แม้ในขั้นตอนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมชั้นเลิศอย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ที่มีตำหนิก็ออกมาสู่ท้องตลาด

    และยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์เป็นวัตถุดิบที่มีทั้งข้อดีและข้อด้วยที่แตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนวัตถุดิบในสายงานการผลิต ที่วัตถุดิบนั้นจะต้องมีการคัดสรร เลือกระดับของคุณภาพเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมานั้นได้ตามที่ผู้ผลิตต้องการ

    แต่มนุษย์นั้นมีความแตกต่างกันอย่ามากมายเกือบทุกด้าน ตั้งแต่ความคิด ความรู้สึก ทักษะความสามารถ ความถนัด ความสนใจ ปัจจัยเหล่านี้ยังมีอีกมากมาย แล้วแต่ว่าคนไหนจะคิดอะไรออกมา ทั้งหมดล้วนสามารถเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของบุคคลนสั้นได้ทั้งสิ้น

    กลับมาสู่ระบบที่หลายๆคนเรียกว่าเป็นระบบการผลิต ถ้ามองในแง่ของเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ผิด เพราะว่าเป็นการนำวัตถุดิบมาใช้ให้เกิดผลผลิตขึ้นมา หรืออาจมองอีกแง่หนึ่งคือเป็นการ แปรรูป ผมเองไม่แน่ใจว่าใช้ถูกต้องหรือมไม่ แต่อยาหจะใช้คำนี้มากกว่า Refinement เพราะว่าคนที่เข้ามาในระบบเหมือนกับ น้ำมันดิบ (Crude oil) ที่ดูเหมือนจะทำอะไรไม่ได้นอกจากติดไฟ แต่หลังจากนำน้ำมันดิบเข้าสู่ระบบการกลั่นลำดับส่วน ซึ่งจะแยกน้ำมันดิบออกมาเป็นน้ำมันตามจุดเดือนของมัน และได้ Refined oil (ขออภัยที่นึกคำพูดไม่ออก)

    ซึ่งผมเห็นว่าการทำงานของระบบการศึกษาควรจะเป็นเช่นการกลั่น ที่จะดึกความสามารถของนักศึกษาออกมามากกว่าที่จะมุ่งเน้นไปที่ปริมาณการผลิต เพราะหากว่าปริมาณการผลิจตนั้นมีสูงแต่คุณภาพที่ได้นั้นไม่เป็นที่ต้องการ ก็ถือว่าเป็นการผลิตที่ไม่เกิดผลอีกทั้งยังเป็นการสร้าง excess supply อีกด้วย

    แต่มองอีกมุมหนึ่งมนุษย์เองนั้น เป็นทรัพยากรที่มีค่า และก็มีความคิดเป็นของตนเอง สิ่งที่ดูเหมือนจะยากยิ่งกว่าการดึงความสามารถคือ การปลูกฝังความคิดที่ถูกต้องให้กับบุคคลเหล่านั้น เพราะว่ามนุษย์มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเลือกในการกระทำ การที่จะทำให้ทรัพยากรที่เราสร้างขึ้นมามีความสมบูรณ์พร้อมทั้งความสามารถและจริยธรรมเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย และไม่มีมหาวิยาลัยไหนที่จะไม่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้

    การปรับเพิ่มความสามารถของมนุษย์นั้นอาจดูยาก แต่การปรับระดับของจริยธรรมมนุษย์นั้นยากยิ่งกว่า สิ่งที่ไม่อาจมองเห็นย่อมไม่อาจจะมีกฏเกณฑ์ที่ใช้วัดได้ สิ่งเหล่านี้คงต้องอาศัยความเข้าใจในความคิดของมนุษย์มากกว่าความเข้าใจด้านวิชาการที่จะรับมือกับความคิดของมนุษย์เอง

Members who have read this thread : 0

Actions : (View-Readers)

There are no names to display.

Tags for this Thread

Posting Permissions

  • You may not post new threads
  • You may not post replies
  • You may not post attachments
  • You may not edit your posts
  •