ซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ เลือก อย่างไรไม่ให้โดนหลอก
ที่ผ่านมาผู้บริโภคที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือจำนวนไม่น้อย อาจคิดว่าโทรศัพท์มือถือของแท้และของปลอมแปลง หน้าตาเหมือนกัน และไม่เห็นจะมีความแตกต่างกันตรงไหน แต่ในความเป็นจริงของแท้และของปลอม มีความแตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการผลิต การรับประกันคุณภาพสินค้า ประสิทธิภาพการใช้งาน และที่สำคัญคือความปลอดภัยในการใช้งาน ที่เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
ของปลอมแปลงที่กำลังระบาดในขณะนี้ มีทั้งตัวเครื่อง และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี สายชาร์จ หูฟัง หูฟังบลูทูธ หน้ากาก แป้นกด และอื่นๆ โทรศัพท์และอุปกรณ์ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานหรือของปลอมมักจะใช้วัสดุคุณภาพต่ำเพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้สามารถนำมาขายได้ในราคาถูก โดยวัสดุคุณภาพต่ำบวกกับการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ของปลอมแปลงมีประสิทธิภาพในการใช้งานต่ำ และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น กระแสไฟฟ้าลัดวงจร หรือแบตเตอรีระเบิด
ดังนั้น การใช้แบตเตอรีปลอมจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกคำเตือนล่าสุดว่าอย่าใช้แบตเตอรีมือถือปลอม แม้ว่าหน้าตาจะเหมือนกัน แต่คุณภาพนั้นเทียบกันไม่ได้เลย แบตเตอรี่แท้ มีการติดตั้งวงจรป้องกันการลัดวงจร แต่แบตเตอรีปลอมจะใช้วัสดุคุณภาพต่ำ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ระเบิด ไฟลุกไหม้ขณะชาร์จ ความร้อนอาจทำให้แบตเตอรีบวม เสื่อมอายุการใช้งานเร็ว แม้กระทั่งการจ่ายไฟที่ไม่สม่ำเสมอ อันเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้โทรศัพท์เสื่อมเร็ว หรือระบบทำงานไม่ปกติ เป็นต้น
ดร.ธนศาสตร์ สุขศรีเมือง นักวิจัยกลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโพลิเมอร์ และพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ให้ข้อมูลว่า แบตเตอรีมือถือมี 2 แบบที่นิยมใช้ ได้แก่ นิคเกิล-แมกนิเซียม และลิเธียมไอออน ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน แต่ลิเธียมไอออนมีอันตรายมากกว่า เนื่องจากแบตเตอรีจะมีการทำงาน 2 แบบ คือ รีชาร์จ (การอัดประจุไฟฟ้า) และการ Discharge ที่เป็นการปล่อยประจุไฟฟ้าเพื่อใช้งาน โดยการระเบิดจะเกิดในขั้นตอนนี้ เพราะเมื่อมีการปล่อยประจุไฟฟ้าออกมาจากแบตเตอรีลิเธียมเร็วกว่านิคเกิล จะทำให้เกิด ภาวะความร้อนเฉียบพลัน (Thermal Runaway) หากวัสดุที่ใช้ไม่ได้มาตรฐานอาจระเบิดได้
นักวิจัยฯ จาก MTEC กล่าวต่อว่า เมื่อแบตเตอรีมีความเสี่ยงต่อการระเบิดได้ทุกเมื่อ หากมีการใช้ผิดวิธี หรือเกิดการลัดวงจร ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือต้องป้องกัน ด้วยการเติมสารเคมีบางชนิดลงในแบตเตอรี หรือติดวงจรไฟฟ้าเพื่อตัดไฟก่อนแบตเตอรีระเบิด ในรูปแบบการทำงานคล้ายๆ กับฟิวส์ ที่ตัดการทำงาน เมื่อพบความผิดปกติของแรงดันไฟฟ้า โดยสิ่งเหล่านี้ทำขึ้นมาเพื่อลดอุบัติเหตุ ดังนั้น ไม่ควรใช้มือถือในที่ที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 60 องศาเซลเซียส ส่วนปัญหาแบตเตอรีบวมนั้นมาจากปฏิกิริยาเคมีทางไฟฟ้าที่เซลไฟฟ้าภายในปล่อยน้ำออกมาเมื่อมีการปล่อยประจุ แบตเตอรีรุ่นใหม่ๆ จึงมีรูเล็ก เพื่อระบายของเหลวออกไม่ให้แบตเตอรีบวม
ด้าน นายสิริ นีละวัฒนาสุข หัวหน้าส่วนผลิตภัณฑ์การตลาด บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า ความนิยมอย่างสูงของโนเกีย ทำให้เกิดของปลอมแปลงมาหลอกลวงผู้บริโภค และเป็นอันตรายต่อการใช้งาน ผู้บริโภคควรตรวจสอบข้อมูลรุ่นที่ต้องการซื้อทุกครั้ง หากเป็นรุ่นที่โนเกียไม่เคยประกาศเปิดตัว เช่น N97 N99 นั่นหมายถึง ของปลอมแปลงแน่นอน หรือแม้แต่รุ่นที่โนเกียมีการประกาศเปิดตัวและวางจำหน่ายทั่วไปก็ควรตรวจสอบว่าโทรศัพท์รุ่นนั้นมีหน้าตา คุณสมบัติอย่างไร และราคาขายปลีกที่โนเกียลงโฆษณาเป็นเท่าไหร่ และควรซื้อโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เสริมทุกชนิดจากตัวแทนจำหน่าย ที่ได้รับการรับรองของโนเกียเท่านั้น
หน.ส่วนผลิตภัณฑ์การตลาด บริษัท โนเกียฯ กล่าวอีกว่า อีกประเด็นสำคัญที่ไม่ควรละเลย คือสัญญาณวิทยุจากโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์มาตรฐานจะถูกออกแบบให้รับและส่งสัญญาณวิทยุในระดับที่ปลอดภัยกับร่างกาย โดยมีหน่วยวัดที่เรียกว่า Specific Absorption Rate: SAR ที่ไม่ควรเกิน 2 วัตต์ต่อกิโลกรัม อาทิ N70 มีค่าอยุ่ที่ 1.12 วัตต์ต่อกิโลกรัม ส่วนโนเกีย รุ่น N60, N70 จะมีอยู่ที่ 0.84 วัตต์ต่อกิโลกรัม โดยต้องสังเกตข้อความที่ระบุไว้ในคู่มือการใช้งาน ทั้งนี้ ของปลอมแปลงอาจส่งสัญญาณวิทยุสูงกว่าค่า SAR ตามข้อกำหนด และทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ และของแท้ต้องไม่มีภาษาจีนปรากฎบนตัวเครื่องด้วย
ส่วน นายบ็อบ แมคกูกอล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารลูกค้าและการตลาด บริษัท โนเกียฯ ให้ความเห็นว่า ปัญหาของโนเกียเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ที่ตัวมือถือปลอมที่ทะลักมาขายตามชายแดน แต่เป็นกลับเรื่องที่พยายามทำมากในช่วงนี้ คือ การทำให้ผู้ใช้งานได้รับรู้ถึงประโยชน์ของมือถือแท้ และสามารถแยกแยะสินค้าปลอมได้ถูกต้อง โดยปัญหานี้ทางโนเกียตระหนักดี และได้แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และ 2.การปราบปรามของเถื่อน ที่จะเร่งสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภค ให้รับรู้ความแตกต่างระหว่างของจริงและของปลอม
กก.ผจก.ฝ่ายบริหารลูกค้าและการตลาด บริษัท โนเกียฯ ให้ความเห็นเสริมว่า หากพิจารณาปัญหานี้จากร้านค้าตัวแทนจำหน่ายของโนเกียกว่า 9,500 ร้านทั่วประเทศ จะพบว่ามีถึง 100 รายที่คอยรายงานปัญหาต่างๆ กลับมาที่โนเกีย อีกทั้งตัวผู้จัดจำหน่ายของโนเกียเอง ก็มีการดูแลตลาดครอบคลุมถึง 80-90% จึงไม่น่ากังวล อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มทุเลาเบาบางลงไปมาก และเป็นในวงจำกัด โดยไม่มีผลกระทบต่อส่วนแบ่งการตลาด เพราะไม่มีการลดหรือเพิ่ม โดยแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ของโนเกียยังแข็งแรงอยู่ ทั้งนี้ ตัวมือถือโนเกียปลอมที่จำหน่ายอยู่จะมีราคา 5,000 – 9,000 บาท แต่ของจริงจะอยู่ประมาณ1-2 หมื่นบาท
นี่คืออีกความชัดเจนหนึ่งของค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ที่มีส่วนแบ่งการตลาดในเมืองไทยมากที่สุด และมีโทรศัพท์มือถือรุ่นยอดนิยมมากมาย ในการตอบโต้ปัญหามือถือปลอม และอุปกรณ์เสริมที่ไม่ได้มาตรฐาน ถือเป็นเรื่องดีในการออกมาเตือน และให้ความรู้แก่ผู้บริโภคถึงอันตรายจากการใช้งาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาไม่ได้อยู่การขายของปลอม แต่เป็นความยินดีที่จะจ่ายถูกกว่าของผู้บริโภคคนไทย จนละเลยเรื่องความปลอดภัย ต่อชีวิตและทรัพย์สิน
จะคุ้มหรือไม่หากมือถือราคา 5-6 พันบาท แต่ระเบิดใส่มือผู้ใช้ขาดกระจุย หรือหูไหม้ ดังนั้น IT Digest จึงอยากให้ผู้อ่านลองกลับมาคิดสักเล็กน้อยว่า ของราคาถูกแม้จะใช้งานได้จริง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องทำให้ชีวิตเราถูกตามไปด้วย ลองมองหาของราคาเท่ากันแต่เป็นสินค้ามีคุณภาพ มีการรับประกันที่ชัดเจนดีกว่า อย่างน้อยหากเกิดอะไรที่ไม่คาดฝัน ก็ยังสามารถไปฟ้องร้องเอาผิดได้ และจะได้ไม่เข้าสู่วังวน “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ...
จุลดิส รัตนคำแปง
itdigest@thairath.co.th
http://www.thairath.co.th/news.php?section...p;content=53819