การทำงานบน Intel Macintosh จะปรากฎตัวอย่างเป็นรูปธรรมใน MacOSX ตัวถัดไป ที่โค้ดเนมว่า Leopard (น่าจะนับเป็น 10.5) โดยโปรแกรมเดิมๆ ที่เคยใช้กันอยู่ มีวิธีการนำไปใช้บน Intel Macintosh 2 วิธีด้วยกัน คือ
Fat Binary - ทำการคอมไพล์โปรแกรมใหม่ให้ทำงานบน Intel Macintosh ได้ จากนั้นตัวไฟล์ที่นำไปลงเครื่องจะมีเวอร์ชันเดียว สามารถใช้งานได้ทั้ง PowerPC Macintosh และ Intel Macintosh โดยจะรวมเอาส่วนที่จำเป็นสำหรับทั้งสองแพลตฟอร์มมาในตัวโปรแกรมเลย (นั่นคือถ้าคุณใช้ PowerPC Macintosh ก็จะมีส่วนของ x86 ที่ไม่จำเป็นต้องใช้มาให้ด้วย แต่เพื่อความง่ายในการใช้งานของผู้ใช้ก็โอเค) วิธีการนี้เรียกว่า Fat Binary หรือ Universal Binaries ซึ่งแอปเปิลเคยใช้มาแล้วสมัยตอนเปลี่ยนจากชิป 68000 ของโมโตโรล่ามาเป็น PowerPC ดูรูปประกอบเพื่อความเข้าใจดีกว่านะครับ

Fat Binary
แอปเปิลยืนยันว่าการพอร์ตจะทำได้ง่ายมาก ถ้าโปรแกรมเดิมนั้นพัฒนาด้วย XCode (เป็นชุดพัฒนาของแมค เทียบเท่ากับ Visual Studio) และยืนยันโดยการนำเอา Theo Grey จากบริษัท Wolfram Research เจ้าของโปรแกรม Mathematica (โปรแกรมคณิตศาสตร์คู่แข่งของ Mathcad) มาพอร์ตให้ใช้บน Intel Macintosh โดยให้เวลาตั้งแต่คืนวันพุธที่ 1 แล้วให้โชว์ในงานได้ Grey ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงและแก้โค้ดไปเพียง 20 บรรทัดเท่านั้น ส่วนโปรแกรมอื่นๆ ที่ยืนยันว่าจะมาบน Intel Macintosh แบบ native แน่ๆ คือ Adobe ทั้งสาย Bruce Chizen ซีอีโอของ Adobe ขึ้นไปบนเวทีด้วย และบอกว่าถ้าไม่มี Apple ก็ไม่มี Adobe ในวันนี้ อีกโปรแกรมนึงที่ยืนยันแล้วก็คือ Microsoft Office จากไมโครซอฟต์ Roz Ho GM ฝ่ายแมคอินทอชจากไมโครซอฟต์เป็นคนขึ้นเวทีไปยืนยันด้วยตัวเอง

Thin Binary - วิธีที่สองนำโปรแกรมเดิมๆ มารันบน Intel Macintosh ได้โดยตรง (Thin Binary) โดยผ่านตัวแปลงชุดคำสั่งจาก PowerPC มาเป็น x86 ที่แอปเปิลเรียกว่า "Rosetta" ซึ่งนำชื่อมาจากหิน Rosetta Stone ที่นักประวัติศาสตร์ใช้ในการแปลภาษากรีกและอียิปต์โบราณ โดย Rosetta มีข้อกำหนดว่า จะสามารถแปลงได้แต่โปรแกรมที่ใช้ชุดคำสั่งของซีพียู G3 เท่านั้น ถ้าโปรแกรมที่เรียกชุดคำสั่งพิเศษ Velocity Engine หรือ AltiVec (เป็นชุดคำสั่งที่เทียบได้กับ SSE2 ใน P4) ของ G4 และ G5 จะไม่สามารถแปลงได้ ดูภาพประกอบเช่นเดียวกันครับ

Thin Binary
ตรงนี้หมายความว่า เป็นการการันตีว่าโปรแกรมเดิมๆ จะยังทำงานบน Intel Macintosh ได้ (โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ใช้ AltiVec) และถ้าคุณต้องการจะพอร์ตให้มาเป็น Intel Native ถ้าคุณใช้ XCode ทุกอย่างจะง่ายมาก แต่ถ้าคุณไม่ได้พัฒนาด้วย XCode ทุกอย่างก็จะยากมาก เป็นการบีบให้ในอนาคตการพัฒนาโปรแกรมทุกอย่างบนแมค (ไม่ว่าจะแมคตัวไหน) ทำบน XCode ซึ่งก็เกิดผลดีกับแอปเปิลในทางอ้อมๆ ว่าจะสามารถควบคุมรูปแบบการพัฒนาให้ไปในทางเดียวกันได้

Update:มีคนที่ไปงาน WWDC ส่งผลการ Benchmark ของ Intel Macintosh ตัวที่โชว์ในงานมาให้ดู เนื่องจากว่าโปรแกรมต่างๆ ที่รันทดสอบนั้นยังไม่ได้พอร์ต ดังนั้นผลการ Benchmark จึงเป็นการวัดประสิทธิภาพของตัว Rosetta โดยตรง โดยมีผลการทดสอบหลายอย่างผมไม่ขอเอามาลงละกันครับ แต่ภาพรวมคือ โค้ดที่ผ่านการแปลงจาก Rosetta มีประสิทธิภาพประมาณครึ่งนึงของ G5 เดิม (อย่าลืมว่า เครื่องเป็นคนละสถาปัตยกรรมกัน นี่ไม่ใช่การวัดผลว่า PowerPC Mac แรงกว่า Intel Mac แต่อย่างใด และการทดสอบบางอย่างก็มีอันที่ Intel Mac ชนะด้วย)