ข้อคิดที่น่าค้นหา นักศึกษาไทยกับอเมริกัน
============================

หากลองเปรียบเทียบวิธีการใฝ่หาความรู้ และค่านิยมของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของไทยและอเมริกันในระดับปริญญาตรี จะพบว่ามีความแตกต่างกันอยู่หลายประเด็นทีเดียว ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงในภาพรวมเท่านั้น เพราะถ้ามองเฉพาะเจาะจงลงไปในแง่ของแต่ละบุคคลแล้วอาจต้องใช้เวลานานในการวิเคราะห์ และสรุปถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละคน

จะว่าไปแล้วนักศึกษาที่เมืองไทยก็มีข้อดีอยู่หลายอย่าง เป็นต้นว่าถูกปลูกฝังให้อยู่ในกรอบ ในกฎเกณฑ์สืบต่อกันมาแต่เล็กแต่น้อย ทำให้มีกิริยาที่ดูแล้วน่ารัก ไม่กระโดกกระเดก ก้าวร้าว ถึงแม้ส่วนน้อยจะออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันดูแลแก้ไข ไม่ให้ลุกลามไปจนเกินเยียวยา แต่เด็กที่เมืองไทยจะมีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ๆด้วยกัน คือเด็กเรียน ซึ่งเป็นคำเรียกที่ฮิตติดหูสำหรับผู้ที่สนใจใฝ่หาความรู้แบบเต็มร้อย ซึ่งในทางตรงกันข้ามจะไม่ค่อยสนใจจะร่วมกิจกรรมกับทางมหาวิทยาลัยเท่าใดนัก หรือไม่ค่อยสนใจเรื่องดารา นักร้อง บันเทิงต่างๆ ดังนั้น อย่าไปเสียเวลาพูดเรื่องเหล่านี้ให้เสียเปล่า แต่ถ้าจะไปถามเรื่องทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งอาจจะเข้าท่ามากกว่า ส่วนเด็กอีกกลุ่มหนึ่งจะถูกเรียกว่าเป็น เด็กเที่ยว ซึ่งจะพบเด็กเหล่านี้ได้ตามสถานบันเทิงต่างๆ เป็นต้นว่าโรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า ในเวลาเรียน หากมหาวิทยาลัยไม่ได้มีระเบียบข้อบังคับให้แต่งชุดนักศึกษา ก็จะสามารถเห็นเวทีเดินแฟชั่นในเขตมหาวิทยาลัยให้ดูอย่างเพลินตากันเลยทีเดียว สำหรับเด็กกลุ่มสุดท้ายจะเป็นพวกที่เดินทางสายกลาง สามารถรักษาความสมดุลระหว่างการเรียนและการทำกิจกรรมอื่นๆได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งไม่ทำให้เสียการเรียนแต่ยังได้ประสบการณ์ที่สร้างสรรค์เพิ่มเติม เช่น การทำละครของคณะ การร่วมกิจกรรมกีฬาสีของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ระบบการศึกษาเมืองไทยในระดับปริญญาตรี ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นมากเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะข้อจำกัดหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรคืออาจารย์ผู้สอน ห้องเรียนที่มีจำกัด จึงทำให้นักศึกษาปีหนึ่งส่วนใหญ่ต้องเรียนรวมกันเป็นจำนวนมากๆ บางวิชามีนักศึกษาลงทะเบียนกว่าร้อยคน ส่งผลให้เป็นการปิดกั้นการซักถามข้อสงสัยได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งลักษณะนิสัยของเด็กไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นที่ขัดกับอาจารย์ผู้สอนเท่าใดนัก การเรียนการสอนส่วนใหญ่จึงอยู่ในรูปแบบของการจดเล็คเชอร์ การจดจำ และเข้าไปแสดงฝีมือกันเองในห้องสอบ จึงเอื้อต่อการโดดเรียนของนักศึกษาบางคน แล้วค่อยมาอ่านหนังสือกันก่อนสอบ ผิดกับนักศึกษาส่วนใหญ่ของที่นี่ซึ่งแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองอย่างขะมักเขม้น สังเกตได้จากที่ห้องสมุดซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่จะเอาจริงเอาจังในการอ่านตำรา หรือหาข้อมูลเพื่อค้นคว้าวิจัย อีกทั้งยังซักถามอาจารย์ในห้องเรียนเวลาไม่เข้าใจประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างถ่องแท้ และบ่อยครั้งที่ไม่เห็นด้วยกับอาจารย์จึงเกิดการถกกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งก็ไม่มีการติดใจอะไรต่อกันเป็นการส่วนตัว มองดูแล้วทำให้คิดไปว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่นี่เอื้อประโยชน์ให้กับนักศึกษาได้มากทีเดียว

อีกหนึ่งข้อสังเกตที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดก็คือ เด็กที่นี่ไม่ค่อยติดกับสินค้ายี่ห้อดังเท่าไรนักเมื่อเทียบกับเด็กที่เมืองไทยบางกลุ่ม ซึ่งมีค่านิยมต้องใช้ของดีมีราคา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ ไปจนถึงรถยนต์คู่ใจ บางคนถึงกลับปฏิเสธที่จะขับรถของญี่ปุ่น เพราะดูหรูหราสู้รถยนต์ของทางยุโรปไม่ได้ หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจหัวเราะ หรือไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้วกับสังคมในรั้วมหาวิทยาลัยของไทย เลยพาให้คิดไปว่าหน้าที่ของนักศึกษาคือการใฝ่หาความรู้มิใช่หรือ แล้วการที่จะได้มาซึ่งของใช้ราคาแพงนั้นเด็กไทยส่วนใหญ่มักจะแบมือขอเงินจากพ่อแม่ ที่แย่ที่สุดคือการเดินทางผิดๆซึ่งเป็นข่าวครึกโครมในปัจจุบันและถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นักศึกษาบางคนยอมพลีกายเพื่อแลกกับเงิน หันมามองสังคมของอเมริกาซึ่งถือได้ว่าเป็นสังคมวัตถุนิยมก็จริง แต่การแต่งตัวหรือของใช้ของเด็กอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้ฟู่ฟ่าหรูหราจนเกินความจำเป็น อันนี้เป็นเรื่องที่น่ายกย่องและน่าถือเป็นตัวอย่าง นอกจากนี้ เด็กอเมริกันส่วนใหญ่จะหารายได้พิเศษจากการทำงานควบคู่กับการเรียน ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เขาไม่ได้มีค่านิยมที่จะต้องเรียนแบบม้วนเดียวจบแบบที่เมืองไทย ซึ่งตอนนี้ต้องจบถึงปริญญาโทถึงจะมีภาษีดีกว่าชาวบ้าน บางคนไม่เคยสัมผัสชีวิตการทำงานเลย พอไปทำงานเข้าจริงๆจึงไม่สามารถปรับตัวได้ และไม่มีความอดทนเพียงพอต้องขอลาออกก็มีตัวอย่างให้เห็นกันบ่อยๆ ย้อนกลับมาที่สังคมของอเมริกันที่การศึกษาไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บางคนอายุมากแล้วเพิ่งจะมาเรียนในระดับปริญญาตรีก็มีอยู่ไม่น้อย

ข้อคิดที่กล่าวไปทั้งหมดก็เพื่อจะฝากถึงผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อเด็กไทย อันได้แก่ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ และผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการดูแลหลักสูตรการศึกษาของไทย ในการช่วยกันดูแลแก้ไขค่านิยมผิดๆ แล้วหันมาปลูกฝังแนวคิดที่ถูกที่ควรแก่เด็กตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก ส่วนวิธีการในการสั่งสอนเด็กในปัจจุบันนั้นก็ต้องพยายามใช้เหตุผลให้มาก สุภาษิตที่ว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี คงใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบันเพราะเป็นการใช้กำลังแก้ปัญหา แต่ถ้าจะปลูกฝังแนวคิดให้เขารับรู้ว่า รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า
============================
โดย อักษรา เวณุจันทร์
ไทยทาวน์ ยูเอสเอ นิวส์
ลอส แองเจลิส