ปรากฏการณ์ "จอมืด" ปฏิบัติการ "เข้ม" ไมโครซอฟท์

หลังจากที่ "ไมโครซอฟท์" เปิดตัวซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการใหม่ "วินโดวส์ วิสต้า" เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และ 12 มิถุนายนที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นดีเดย์ที่ "วิสต้า" จะแสดงอิทธิฤทธิ์ถึงประสิทธิภาพของระบบในการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์

เพราะ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา จะเป็นวันแรกของปฏิบัติการที่ไมโครซอฟท์จะเล่นงานผู้ที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ "วินโดวส์ วิสต้า" บางกลุ่มที่ทำให้คอมพิวเตอร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ "วิสต้า" เกิดปรากฏการณ์ "จอมืด" ไม่สามารถใช้งานอื่นได้ นอกจากโปรแกรม internet explorer ที่ยังปรากฏอยู่บนหน้าจอเพื่อเปิดโอกาสให้เข้าไปซื้อสิทธิ์การใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องผ่านทางออนไลน์ได้ และสามารถเรียกดูข้อมูลที่อยู่ในเครื่องได้เท่านั้น

ปรากฏการณ์ "จอมืด" เป็นผลจากการทำงานของโปรแกรม reduced functionality mode หรือ RFM เป็นโปรแกรมที่เกิดจากการอัพเดตอัตโนมัติของไมโครซอฟท์ ซึ่งถ้าผู้ที่จะใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จะได้รับข้อความเตือนล่วงหน้า 30 วันว่า ซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่เป็นของซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย อยู่เป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานปรับเปลี่ยนใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง

แต่ถ้าผู้ที่ได้รับแจ้งเตือนแล้วไม่จัดการซื้อซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมายมาใช้ ก็จะเจอปัญหา "จอมืด" นั่นเอง ซึ่งถือเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ในการแก้เกมกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

"ฐิตกร อุษยาพร" ผู้อำนวยการด้านโออีเอ็ม บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โปรแกรม RFM จะเป็นโปรแกรมที่ให้ประโยชน์อย่างแท้จริงกับผู้ที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ถือเป็นความสามารถทางเทคโนโลยีของวิสต้าในการจัดการกับผู้ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย แต่คงไม่ถึงกับที่จะทำให้ผู้ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หมดไปได้ ส่วนหนึ่งก็จะเป็นการสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ใช้ซอฟต์แวร์ผีที่จะต้องลงซอฟต์แวร์ใหม่อยู่ตลอด

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้คอมพิวเตอร์พิจารณาถึงความคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้รับก็คงทำให้ลดสัดส่วนของผู้ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ให้น้อยลง เพราะไมโครซอฟท์ก็มีนโยบายเรื่องราคาเพื่อตอบโจทย์ของลูกค้าในแต่ละกลุ่มมากขึ้น โดยแยกตามเซ็กเมนต์การใช้งาน ตั้งแต่เวอร์ชั่นสำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์พื้นที่ฐานที่บ้านชุด "วิสต้า โฮม เบสิก" ราคาประมาณ 1,400-1,500 บาทเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็ถือว่าเป็นราคาที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์สามารถจ่ายได้ นอกจากนี้จะมีเวอร์ชั่นโฮม พรีเมี่ยม, อัลติเมต, บิสซิเนส และเอ็นเตอร์ไพรส์ ในระดับราคาที่แตกต่างกันไป

"เราจำเป็นต้องมีการดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง เพราะมีลูกค้าจำนวนมากที่ต้องการใช้งานซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์แต่ขาดความรู้ถึงวิธีการแยกแยะระหว่างของแท้ของปลอม"

ถือเป็นความพยายามของไมโครซอฟท์ในการสร้างความแตกต่างของผู้ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย กับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากรักษาผลประโยชน์ของผู้ใช้ซอฟต์แวร์ถูกต้องตามกฎหมายตามที่ไมโครซอฟท์อ้างอิงแล้ว แน่นอนว่าอีกด้านหนึ่งที่ไมโครซอฟท์ไม่ได้พูดก็คือเป็นการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจนั่นเอง

ข่าวจาก....ประชาชาติธุรกิจ