"ไปวัดทำบุญ" หรือ "ทำบุญที่วัด" ๒ ประโยคนี้เป็นสิ่งที่ พุทธศาสนิกชนคนไทย ได้ยินมาตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ และในปัจจุบัน ๒ ประโยคดังกล่าว นี้จึงกลับกลายเป็น ข้ออ้าง อย่างหนึ่งของคนเมือง และคนทำงาน คือ "ไม่มีเวลา ว่างไปทำบุญ" บ้างก็อ้างว่า "วันหยุดไม่ตรงกับวันพระ"

นอกจากนี้ยังมีข้ออ้างต่างๆ นานาอีกมากมาย สุดแล้วแต่ใครจะยกขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ซึ่งเมื่อสรุปแล้วมีส่วน เกี่ยวข้องอยู่ ๒ อย่าง คือ เวลา และ สถานที่

"ไม่มีเวลาว่างไปทำบุญ" ข้ออ้างนี้น่าจะเกิดจากการนำคำว่า "บุญ" ซึ่งปัจจุบัน เรามักใช้ควบคู่กับคำว่า "ทาน" เช่น ทำบุญทำทาน ด้วยเหตุนี้เองส่งผลให้ความหมาย ของคำว่า ทำบุญ เปลี่ยนไปด้วย

ในที่นี้คนทั่วไปมักหมายถึง การทำทาน นั่นเอง คือ การให้สิ่งของแก่ผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน ด้วยความ เต็มใจ

ในขณะที่พระพุทธศาสนา มีความหมายของการทำบุญมากกว่าการให้ บุญ หมายถึง ความดี ฉะนั้น การละเว้นอบายมุข ด้วยการประกอบสัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพโดยชอบ ด้วย การประพฤติ อ่อนน้อมถ่อมตน ต่อผู้ใหญ่ และด้วยการขวนขวาย ช่วยเหลือการบุญการกุศลต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้ รวมเรียกว่า “สีลมัย” แปลความว่า บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

พระอาจารย์เกษมสุข เขมสุโข พระวัดประดู่ธรรมธิปัตย์ บางซื่อ กทม. พระนักจัดรายการวิทยุ และ ผู้แต่ง เทศน์เพลง บอกว่า การทำบุญ ทำได้ง่าย มากๆ ง่ายกว่าการทำบาปเป็นแสนเป็นล้านเท่า และการทำบุญ ก็ทำได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง แม้ขณะหลับก็ทำบุญได้

ส่วนการทำบาป เช่น อยากทำบาปตกปลาต้องออกจากบ้าน เดินไกล หรือนั่งไปรถขุดดินหาเหยื่อ หรือต้องนั่ง ตกปลาตากแดดร้อนเป็นชั่วโมง กว่าจะได้บาปมา ๑ ตัว ขโมยของเขาต้องระวังอดนอน ระวังทุกก้าวเดิน คอยสะดุ้งผวา กว่าจะได้บาป ต้องเหน็ดเหนื่อยค้นหาทรัพย์

สำหรับบุญที่ทำได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ คือ สีลมัย หมายถึง บุญสำเร็จด้วยการ รักษาศีล คือรักษากายวาจาใจให้เป็นปกติ การละเว้น จากความประพฤติชั่ว หรือ ทุจริต ทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ชื่อว่า “กุศลกรรมบถ” ได้แก่ ๑.เว้นจากการเจตนาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ๒.เว้นจากการลักฉ้อคดโกง เอาของที่เขามิได้ให้ ๓.เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๔.เว้นจากการพูดเท็จ ๕.เว้นจากการพูดยุแยก ให้เขาแตกสามัคคีกัน ๖.เว้นจากการพูดจาหยาบคาย ๗.เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ ๘.ความไม่โลภ ๙.ไม่คิดพยาบาทปองร้ายเขา และ ๑๐.มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม
ส่วนบุญที่ทำได้แม้กระทั่งนอนหลับนั้น พระอาจารย์เกษมสุข อธิบายให้ฟังว่า ก่อนนอนทำแบบน้อยไปหามาก คือ กราบหมอนท่องนะโม ๓ จบ มากกว่านั้น สวดมนต์ยาวขึ้นอีก เพื่อให้ใจเป็นสมาธิ ให้ใจเป็นกุศลก่อนนอน ทำมากกว่านั้น นั่งสมาธิก่อนนอน ทำต่อเนื่องมากกว่านั้นนอนแล้ว สังเกตดูลมหายใจเข้าว่าพุทธ ลมหายใจ ออกว่าโธ ดูลมหายใจของตัวเอง เข้าก็รู้ว่าเข้า ลมหายใจออกก็รู้ว่า ลมหายใจออก ดูลมหายใจของตนไปจนหลับ

ลักษณะการหลับแบบนี้ เรียกว่าอยู่ในฌาน ถ้าเสียชีวิต ตอนกลางคืนโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ทันตื่นขึ้นมา เช่น ถูกยิง ถูกระเบิด เครื่องบินตกใส่บ้าน รถวิ่งชนบ้าน (อยู่ริมถนน) ฯลฯ ตายขณะหลับเช่นนี้ จะไปเกิดเป็น พรหมสูงกว่า ดีกว่าเหนือกว่าเทวดา

แบบนี้เรียกว่า ทำบุญตลอด ๒๔ ชั่วโมง แม้แต่หลับสนิท ๘ ชั่วโมง ก็ถือว่าทำบุญ เพราะจิตไม่ว่างจากกุศล

จิตไม่ว่างจากฌาน หรือสมาธิ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรทั้งธุรกิจส่วนตัว หรือทำการงานตามปกติใจแผ่เมตตา ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย สั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้ ตรงกับพระพุทธพจน์ เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๑๒ พระไตรปิฎกฉบับบาลี ๔๕ เล่ม ที่ว่า

"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญเมตตาจิต แม้ชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว เรากล่าวว่าเธอผู้นั้นอยู่อย่างไม่ว่าง จากฌาน เป็นผู้ทำตามคำสอนของศาสดา เป็นผู้ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันอาหารของราษฎรไปเปล่าๆ จะกล่าวใย ถึงข้อที่ภิกษุจะทำเมตตาจิต ให้มากกว่านั้นเล่า"