1 out of 1 members found this post helpful.
Web Content Accessibility Guidelines 2.0 สำคัญอย่างไรกับการพัฒนาเว็บไซด์ในปัจจุบัน
ก่อนอื่นต้องเกริ่นก่อนครับ ว่าเมื่อกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาผมได้เข้าร่วมอบรมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในหลักสูตรการพัฒนาเว็บไซด์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ระดับสูงสำหรับโปรแกรมเมอร์ ซึ่งเมื่อปีก่อนหน้านั้นตัวผมเองก็ได้เข้ารับการอบรมในหัวข้อคล้ายกันนี้มาแล้วเช่นกัน
ในเรื่องที่ผมได้เข้าอบรมนั้นเน้นย้ำเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาเว็บไซด์อย่างไร จึงจะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยตัว Guide line ที่นำมาใช้กันก็เกิดจากความร่วมมือกันของหน่วยงานระดับโลกที่ชื่อว่า W3C ซึ่งเนื้อหาด้านล่างนี้ บางส่วนผมจะอ้างอิงมาจาก Wikipedia เพือให้ทุกท่านได้ทราบกันนะครับ
สำหรับแนวทางการออกแบบเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึง โดย W3C เรียก Guideline นี้ว่า Web Content Accessibility Guideline (WCAG) ได้ประกาศใช้เป็นเกณฑ์ในการออกแบบเว็บไซต์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 ในเวอร์ชัน WCAG 1.0 ปัจจุบันเทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาเว็บไซต์จึงมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการพัฒนาเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ต้องมีการทบทวน Guideline กันใหม่ และได้มีการปรับเนื้อหาให้รองรับและครอบคลุมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ ในเวอร์ชัน WCAG 2.0 ที่กำลังจะประกาศใช้ในปี 2007 ประเทศไทยจึงได้นำ WCAG 2.0 มาปรับใช้เพื่อยกระดับการเข้าถึงเว็บไซต์ให้เป็นไปตามหลักสากลได้ ซึ่งมีโครงสร้างดังนี้
หลักการ (Principle) – มี 4 หลักการตามวัตถุประสงค์ในการออกแบบเว็บไซต์
หลักการที่ 1 - ผู้อ่านต้องสามารถรับรู้เนื้อหาได้
หลักการที่ 2 - องค์ประกอบต่าง ๆ ของการอินเตอร์เฟสกับเนื้อหาจะต้องใช้งานได้
หลักการที่ 3 - ผู้ใช้สามารถเข้าใจเนื้อหา และส่วนควบคุมการทำงานต่างๆ ได้
หลักการที่ 4 - เนื้อหาต้องมีความยืดหยุ่นที่จะทำงานกับเทคโนโลยีเว็บในปัจจุบันและอนาคตได้ (รวมถึงเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก)
แนวทาง (Guideline) – จะแบ่งออกเป็นข้อๆ ตามหลักการ
แนวทางที่ 1.1 - จัดเตรียมข้อมูลที่เป็นข้อความ (Text) แทน เนื้อหาที่มีรูปแบบเป็นอื่น
แนวทางที่ 1.2 - จัดเตรียมข้อความบรรยายที่ตรงกับเหตุการณ์ในสื่อมัลติมีเดีย
แนวทางที่ 1.3 - การออกแบบโครงสร้าง และเนื้อหา ต้องสามารถทำงานเป็นอิสระจากกันและกัน
แนวทางที่ 1.4 - ต้องมั่นใจได้ว่าพื้นหน้าและพื้นหลัง(สีและเสียง) ต้องมีความแตกต่างกันมากพอที่ผู้ใช้จะสามารถแยกแยะได้
แนวทางที่ 2.1 - การทำงานทุกอย่างต้องรองรับการใช้งานจากคีย์บอร์ดได้
แนวทางที่ 2.2 - จัดเตรียมเวลาให้เพียงพอในการอ่าน หรือการกระทำใดๆ ของข้อมูล สำหรับผู้ใช้ที่เป็นคนพิการ
แนวทางที่ 2.3 - ไม่สร้างเนื้อหาที่อาจเป็นสาเหตุของอาการลมชัก
แนวทางที่ 2.4 - จัดเตรียมทางช่วยเหลือสำหรับผู้ใช้ในการสืบค้นเนื้อหา รู้ว่าตัวเองอยู่ในตำแหน่งใดในเนื้อหา และท่องไปในเนื้อหานั้นได้
แนวทางที่ 3.1 - สร้างเนื้อหาให้สามารถอ่านและเข้าใจได้
แนวทางที่ 3.2 - การทำงานของระบบต่างๆ หรือการแสดงผลบนหน้าเว็บ ต้องเป็นสิ่งที่ผู้ใช้สามารถคาดเดาได้
แนวทางที่ 3.3 - จัดเตรียมส่วนการช่วยเหลือให้ผู้ใช้ให้สามารถกรอกข้อมูลได้ถูกต้อง
แนวทางที่ 4.1 - รองรับการใช้งานร่วมกับ User Agent ได้ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต (รวมถึงเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก)
เกณฑ์ความสำเร็จ (Success Criteria) – เป็นตัวบอกถึงระดับความสำเร็จของหัวข้อแนวทางที่จะทำให้เป็นไปตามหลักการ และได้แบ่งเป็น 3 ระดับของความสำเร็จ
เกณฑ์ระดับ A เป็นเกณฑ์ที่ผู้พัฒนาเว็บไซต์ ต้อง ปฏิบัติตามเพื่อให้คนพิการเข้าถึงเว็บไซต์ได้
เกณฑ์ระดับ AA เป็นเกณฑ์ระดับสำคัญรองลงมาที่ผู้พัฒนาเว็บไซต์ ควรจะ ปฏิบัติตามเพื่อให้คนพิการเข้าถึงเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น
เกณฑ์ระดับ AAA เป็นเกณฑ์ที่ผู้พัฒนาเว็บไซต์ อาจจะ ปฏิบัติตามเพื่อให้คนพิการเข้าถึงเว็บไซต์ได้ง่ายที่สุด
ระดับการเข้าถึง (Level) - การที่จะทำให้ทราบถึงว่าเว็บไซต์ใดเป็นเว็บไซต์ที่อำนวยความสะดวกให้กับคนพิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้นั้น จะต้องมีสัญลักษณ์ (Icon) กำกับอยู่ที่หน้าของเว็บไซต์นั้นๆ (URI) ซึ่งหมายถึงการที่เว็บไซต์นั้นๆ ได้ผ่านการตรวจสอบความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้ ตามแนวทางของการเข้าถึงข้อมูล (Web Content Accessibility Guideline : WCAG) สำหรับสัญลักษณ์ที่แสดงนั้นจะแบ่งระดับความสามารถในการเข้าถึงเป็น 3 ระดับ ด้วยกันคือ
การเข้าถึงระดับ เอ (A)หมายถึง ผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด ที่กำหนดในระดับเอ
การเข้าถึงระดับ ดับเบิ้ลเอ (AA)หมายถึง ผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด ที่กำหนดในระดับเอ และดับเบิ้ลเอ
การเข้าถึงระดับ ทริปเปิ้ลเอ (AAA)หมายถึง ผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์การตรวจสอบทั้ง 3 ระดับ
ข้อดีของการจัดทำเว็บไซด์ให้ถูกต้องตามหลักของ WCAG นั้นมีคร่าวๆที่ผมพอจะสรุปได้ดังนี้ครับ
1.ง่ายต่อการเข้าถึงเนื้อหาที่เราต้องการนำเสนอ ทั้ง คน และ robot
2.ง่ายต่อการนำไปพัฒนาต่อเนื่องจากโค๊ดที่เราเขียนต้องผ่านการตรวจสอบและได้มาตรฐาน
3.เป็นการทำ SEO ไปในตัวเพราะมาตรฐาน WCAG นั้นได้กำหนด Tag ที่ต้องระบุไว้หลายๆ Tag ซึ่งตรงกับความต้องการในการทำ SEO
4.มูลค่าของเว็บเราสูงขึ้นเพราะการพัฒนาให้ผ่านข้อกำหนดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้ทั้งความตั้งใจเวลาและทุนในการพัฒนาสูง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีข้อกำหนดต่างๆออกมาแต่การที่เราพัฒนาเว็บไซด์ให้ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานของ WCAG นั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาเว็บไซด์ให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างยั่งยืนเพราะ ถ้าหากเราขาดความรับผิดชอบและจิตสำนึกต่อการ แทรกเนื้อหา Content ลงไปใน tag ต่างๆ หรืออธิบายไม่ครบถ้วนอธิบายไม่ชัดเจน ก็จะไม่ทำให้หลักการที่หลายๆฝ่ายได้ร่วมกันเขียนขึ้นมาสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์เช่นกัน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมลองดูที่ wiki นะครับ
ส่วนหลักสูตรที่ทางกระทรวง ICT สนับสนุนก็จะมีรายละเอียดตามลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
โครงการพัฒนาสังคมแห่งความเท่าเทียมด้วยICT
เว็บไซด์สำหรับ Validate XHTML
The W3C Markup Validation Service
เว็บไซด์สำหรับ Validate CSS
The W3C CSS Validation Service
มีความคิดเห็นอย่างไรก็บอกด้วยนะครับผมพึ่งเขียนบทความแรก เดี๋ยวมีเครื่องไม้เครื่องมือที่สำคัญกับการพัฒนาอย่างไรจะนำมาเสนอกันอีกทีครับ