ปริศนาธรรมของสมเด็จฯ โต
ตอน ผ้าเช็ดมือถวายไม่ได้
เวลาที่เราจะให้ของอะไรๆ กับผู้อื่น เรามักจะเลือกหาของดีๆ ให้เขา เพราะเรารู้ว่าเป็นธรรมชาติของคนที่อยากจะได้แต่ของดีๆ ไม่มีใครอยากได้ของไร้ค่าหรือมีค่าน้อย บางคนเกร็งเกินไป ไม่กล้าให้ของเล็กน้อยแก่ผู้อื่น เพราะเกรงจะไม่เป็นที่ถูกใจ จึงสรรหาของมีค่ามากไปให้จนผู้รับไม่กล้าใช้ เพราะมันดีเกินไป ได้แต่เก็บใส่ตู้โชว์ ไม่ยอมใช้จนตายไป ลูกหลานก็เอาไว้โชว์ต่อไปอีก
มันน่าขำจริงเชียว !
ญาติโยมโดยทั่วไปก็เหมือนกัน เวลาทำอาหารถวายพระ มักจะเน้นพวกแกง ต้ม ผัด เอาไว้ก่อน ถึงจะทำประณีตอย่างไรก็ตาม พระท่านก็ฉันไม่ใคร่ได้หรอก เพราะท่านฉันจำเจอยู่ทุกๆ วัน อยู่แล้ว มันเบื่อได้เหมือนกัน ไม่ใคร่มีใครเอาน้ำพริก ผักไปถวาย ลองเอาไปถวายซิ ท่านฉันข้าวได้มากเลยแหละ
น้ำพริก ผัก เป็นอาหารที่ปรุงแต่งรสน้อยกว่าพวกแกง ผัดซึ่งปรุงแต่งรสจนบางครั้งเพียงได้กลิ่นก็เกิดอาการคลื่นเหียนเวียนหัว เสียแล้ว เพราะฉะนั้น อย่ามองข้ามน้ำพริกว่าเป็นอาหารเล็กน้อย ไม่สำคัญ เพราะน้ำพริกนี่แหละทำให้ชาวนาชาวไร่มีร่างกายสมบูรณ์
กรณีที่ผมเล่ามานี้ เคยมีกรณีข้างเคียงเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เรื่องมีว่า
สมเด็จฯ โต ได้รับนิมนต์ให้ไปฉันในพระราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนไตรแพร สมเด็จฯ โตท่านก็เอาไตรแพรนั้นเช็ดปาก เช็ดมือยุ่งไปหมด
พระจอมเกล้าฯ ทรงทักว่า “ไตรเขาดีๆ เอาไปเช็ดเปรอะหมด”
สมเด็จฯ โต ตอบสวนมาทันทีว่า “อะไรๆ ก็ถวายได้ ผ้าเช็ดมือถวายไม่ได้ อาตมภาพก็ต้องเอาผ้าไตรของอาตมาเช็ดอาตมาเอง เป็นอันได้บริโภคของทายกแล้ว ไม่เป็นศรัทธาไทยวิบัติ”
ผ้าเช็ดมือผืนเล็กๆ ราคาผืนไม่กี่บาท แต่ไม่มีใครคิดซื้อหามาถวายพระไม่รู้ว่าเพราะอะไร อะไรๆ ก็ถวายได้ แต่ผ้าเช็ดมือถวายกันไม่ได้
การกระทำของสมเด็จฯ โต เป็นการสอนให้รู้ว่า อย่าเห็นแต่สิ่งของสำคัญจนลืมของเล็กๆ น้อยๆ เพราะบางทีของเล็กน้อยก็สำคัญไม่ใช่ย่อยเหมือนกัน