Cyberwar สงครามจารกรรม และ สงครามโลก ระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย
หมายเหตุ : ตอนผมยังอยู่อเมริกา เปิด CNN เวลาไหนก็เจอแต่ข่าวสงครามรัสเซียกับจอร์เจีย และข้อวิพากษ์อย่างเผ็ดร้อนของทางการสหรัฐต่อสงครามดังกล่าว กำลังสนใจว่านั่นเป็นเพียงแค่สนามแสดงศักยภาพทาง "อาวุธ" เพื่อเสนอแก่ผู้ซื้อหรือเปล่า (คิดไปโน่น) มาเจองานเขียนที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้พอดี ข้อเขียนนี้เขียนโดยคุณเช กูวารา(นามแฝง) หนึ่งในสามสหายจาก http://biolawcom.de "แตกต่างหลากหลายแต่สายใยเดียวกัน", ซึ่งเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่อยู่เยอรมัน และรังสรรค์ Website ที่มีคุณค่าขึ้นร่วมกัน ผมเห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงขออนุญาตนำมาลงไว้ที่นี้ครับ - - - ข้อเขียนนี้มี link ข้อมูลข่าว โปรดสังเกตุสีขาวและ click ดูเพิ่มเติมได้ครับ
Cyberwar
สัปดาห์ที่แล้ว หลายคนน่าจะทราบว่า ก่อนที่สงครามในโลกจริงระหว่างรัสเซียกับจอร์เจียจะเกิด ด้วยเหตุความขัดแย้งในเขต เซาท์ ออสเซเทีย (South Ossetia) ประเทศจอร์เจีย แฮกเกอร์รัสเซีย ก็แอบดอดไปเปิดสมรภูมิไซเบอร์ รอท่าไว้ก่อนแล้ว โดยมีรายงานว่า ก่อนที่สงครามจะเริ่มไม่กี่วัน (ก่อน 8 สิงหาคม) เว็บไซท์รัฐบาล รวมทั้งเว็บกระทรวงหลายแห่งของจอร์เจีย อาทิ เว็บ ไซท์ประธานาธิบดี Mikheil Saakashvili, เว็บทำเนียบรัฐบาล, หน้า Homepages กระทรวงต่างประเทศ และ กระทรวง กลาโหม ไม่สามารถเข้าถึงได้ บางแห่งเข้าได้แต่ถูกเปลี่ยนเนื้อหา ในขณะที่เซิร์ฟเวอร์ภายในประเทศจอร์เจีย ถูกโจมตีโดยวิธี "ระดมยิงคำสั่งลวง" (Distributed Denial of Service attacks หรือ DDos) จนระบบปฏิบัติการล้มเหลว หรือมิเช่นนั้นก็ถูกควบคุมเส้นทางจาก Autonomous System ที่อยู่ภายนอกประเทศ Jart Armin เจ้าของบล็อก rnbexploit-Blogs ที่เปิดเผยเรื่องนี้เป็นแห่งแรก วิเคราะห์และแสดงหลักฐานว่า การโจมตีครั้งนี้ แฮกเกอร์รัสเซีย ภายใต้ชื่อเครือข่าย Russia Business Network (RBN) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลรัสเซีย เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งต่อมาการวิเคราะห์ของเขาก็ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ
อัน ที่จริง Cyberwar หรือบางแห่งเรียก Internet War (iWar) ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่อะไรครับ เพราะปี 2007 รัสเซียก็เคยใช้กองทหารไซเบอร์ โจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของประเทศเอสโตเนีย มาแล้ว หรือถ้าจะระลึกย้อนให้ไกลอีกหน่อย ก็ต้องบอกว่า Cyberwar ครั้งแรก เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2001 แล้ว โดยมียักษ์ใหญ่อย่างจีน กับสหรัฐฯ เป็นคู่สงครามฟาดฟันเว็บไซท์กันและกัน ภายหลังที่วิธีทางการทูตไม่สามารถหาข้อยุติอันเหมาะสมจากกรณีเครื่องบินรบ จีนชนกับเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐ ฯ โดยไม่ตั้งใจยังผลให้นักบินจีนเสียชีวิต ได้ แฮกเกอร์ใจร้อนสัญชาติจีน ก็เลยเปิดฉากโจมตีเว็บไซท์สหรัฐฯ ก่อน
อนึ่ง ควรต้องเข้าใจว่าคำว่า Cyberwar นั้น ไม่ได้หมายเฉพาะว่าต้องเกิดขึ้นคู่ขนาน เป็นเรื่องระหว่างประเทศ หรือระหว่างคู่กรณีที่มีการทำสงครามกันในโลกจริง ๆ เท่านั้น เพราะกรณีที่เว็บไซท์สวีเดนกว่า 5000 เว็บถูกแฮกฯ ทำลายข้อมูล เมื่อเดือนตุลาคม 2007 ซึ่งหนังสือพิมพ์ตุรกี "Zaman" รายงานเองว่า เป็นฝีมือของแฮกเกอร์ชาวมุสลิมตุรกี ด้วยสาเหตุ...ไม่พอใจสื่อสวีเดนที่เผยแพร่การ์ตูนล้อมูฮัมหมัด นั่นก็ถือเป็น Cyberwar เหมือนกัน
หลังจากตกเป็นฝ่ายรับแบบไม่ทันตั้งตัว แฮกเกอร์สวีเดน ก็โต้กลับด้วยการเจาะระบบเว็บบอร์ด "Ayyildiz" ของตุรกี ขโมยข้อมูล และ Password สมาชิกชาวตุรกีกว่าพันคน มาเปิดเผยบนอินเทอร์เน็ต โดยทิ้งข้อความเย้ยหยันอย่างเปิดเผยว่า เป็นการโต้ตอบจากสวีเดน โทษฐานที่ตุรกีแหยมมาแฮก ฯ เว็บสวีเดนก่อน เท่านั้นยังมิสาแก่ใจ แฮกเกอร์สวีเดนยังจัดการส่งภาพโป๊มูฮัมหมัดไปตามอีเมล หรือเอ็มเอสเอ็นที่แฮก ฯ มา ให้สมาชิกเว็บนั้นดูต่างหน้าอีกด้วย
กลาง ปี 2008 กลุ่มแฮกเกอร์ Ayyildiz-Team ซึ่งเรียกตัวเองว่า "ทหารแห่งโลกไซเบอร์" ก็พยายามแฮกเว็บไซท์ของ EU เพื่อเผยแพร่คำต่อต้านสหภาพยุโรป ที่กล่าวหาว่า มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายอยู่ในประเทศตุรกี และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เว็บไซท์สมาคมฟุตบอล และนิตยสารของออสเตรียก็เคยโดนโจมตีจนได้รับความเสียหาย จากทีมนี้เช่นกัน นอกจากกรณีดัง ๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีการโจมตีกันไปมาด้วยเหตุผล และข้อพิพาทอื่น ๆ อีกมากที่ไม่ได้รับการเปิดเผย ทั้งนี้เพราะฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อกลัวว่าฝ่ายตัวจะเสียภาพพจน์
ปัจจุบัน มิเพียงแต่คำเรียกเท่านั้นครับ ที่ยังผสมปนเป หรือใช้แทนกันไปมาอยู่ แต่คำจำกัดความสงครามรูปแบบนี้ที่ยอมรับกันเป็นสากล ก็ยังไม่มีเหมือนกัน สื่อส่วนใหญ่มักให้ความหมาย Cyberwar ว่า "สงครามบนอินเทอร์เน็ต" ฝั่งสหรัฐ ฯ ไม่ได้ใช้ Cyberwar เป็นศัพท์ทางการ แต่ใช้วิธีอธิบายสงครามแบบนี้ว่า คือ "การโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์" ในขณะที่เยอรมันยังให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำ "สงครามข้อมูลข่าวสาร" (Information War) อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วเมื่อกล่าวถึง Cyberwar ก็ควรต้องเข้าใจนะครับว่า มันไม่ได้มีความหมายแคบ ๆ แต่เพียง การโจมตีด้วยวิธีการเจาะรบบ (Hacken) ยิงคำสั่ง (Dos หรือ DDos) ฯลฯ เพื่อทำลาย หรือสร้างความเสียหายแก่ตัวระบบคอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง ยุทธศาสตร์ในการยึดครอง หรือการพยายามเข้าไปมีิิอิทธิพลครอบงำ "ความคิดเห็นสาธารณะ" ด้วย และนี่เอง ที่เป็นที่มาของคำเรียกชื่อสงครามนี้อีกคำว่า "สงครามแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ" (Propaganda War)
แน่นอน ที่ว่า โปรแกรมทำลายระบบอย่าง ไวรัส วอร์ม โทรจัน ระเบิดเวลา ฯลฯ ย่อมถือเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญของสงครามรูปแบบนี้ และทำนองเดียวกับ การก่อวินาศกรรมคอมพิวเตอร์ (Computersabotage) จุดประสงค์ของการโจมตีในสงครามไซเบอร์ ก็อาทิ การลบข้อมูลที่สำคัญ ทำลายระบบปฏิบัติการไม่ให้ใช้งานได้อีก หรือบิดเบือนการทำงานของระบบให้ผิดไปจากเดิม แต่ที่อาจต่างไปบ้างก็คือ เป้าหมายในการโจมตีกว้างขวางขึ้น อาทิ ทำลายระบบบริการสาธารณะ โจมตีระบบสนามบิน น้ำ ไฟ การจราจร ที่ควบคุมการทำงานโดยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเสียหายให้แก่คู่กรณีเป็นวงกว้าง อีกสิ่งที่เพิ่มขึ้น ก็คือ การกระทำในเชิง "ข้อมูลข่าวสาร" ด้วยการเข้าไปปิดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต บิดเบือนเนื้อหาในเว็บไซท์ของฝ่ายตรงข้ามเพื่อทำลายเครดิต หรือจารกรรมความลับทางการรบ หรือข่าวที่สำคัญต่อการทำสงครามของศัตรู
บาง คนอาจคิดว่าภัยของ iWar หรือ Cyberwar มีไม่มาก ไม่มีคนตาย ไม่มีผู้บาดเจ็บ ไม่มีซากปรักหักพัง แต่จริง ๆ แล้ว อานุภาพของสงครามนี้มีมากกว่าที่คิด ไม่เพียงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งมักมีมูลค่ามหาศาล เท่านั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาที่สงครามไซเบอร์ถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูป แบบ ก็อาจมากมายชนิดที่เรายังจินตนาการไปไม่ถึง ทั้งนี้ แม้จะลงทุนมองข้าม ปัญหา และผลกระทบที่ตามมา จากความเชื่อหรือความเข้าใจอย่างผิด ๆ ของประชาคมหรือสาธารณชนเกี่ยวกับข้อมูลที่ถูกบิดเบือน ไปแล้วก็ตามที