ซิป้า จับมือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ รณรงค์ใช้โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์ทั่วประเทศ หวังช่วยลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ตั้งเป้าสิ้นปี 53 หน่วยงานภาครัฐใช้โอเพ่นซอร์สไม่น้อยกว่า 50 องค์กร

นาวาตรีวุฒิ พงศ์ พงศ์สุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ ซิป้า กล่าวว่า จากแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทยให้มีการขยายตัวอย่างต่อ เนื่อง ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ซิป้า จะเน้นและให้ความสำคัญเรื่องการสร้างพื้นฐาน หรือจิตสำนึกของประชาชนในเรื่องของลิขสิทธิ์ทางปัญญา และสิ่งสำคัญที่ไม่อาจจะมองข้ามไปได้ คือ หากคนไทยไม่พร้อมที่จะใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง จะมีลิขสิทธิ์ตัวไหนที่ถูกต้อง และจะมีอะไรมาแทนได้และสิ่งที่มาทดแทนจะต้องมีประสิทธิภาพที่เท่าเทียมกัน

ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งหวังส่งเสริมด้านซอฟต์แวร์ในประเทศไทย สิ่งที่ซิป้าได้ดำเนินการคือ การพัฒนาโอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์ให้เป็นทางเลือกสำหรับคนไทย ปัจจุบันหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้ ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมากขึ้น ซึ่งในเดือนนี้ จะมีการลงนามทำสัญญาร่วมกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สไปใช้ในหน่วยงาน โดยล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน จึงได้ร่วมมือกับ ซิป้า นำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ไปใช้ในหน่วยงานของ สสช.ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ซิป้า ได้ตั้งเป้าหมายในปี 253 นี้ ให้หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาตลอดจนองค์กรต่างๆ นำโอเพ่นซอร์สมาใช้ในองค์กรไม่น้อยกว่า 50 องค์กร

นายวุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า ซิป้ากำลังดำเนินการพัฒนาบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยเริ่มจากเยาวชน ทั้งนี้ บุคลากรที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมไอทีแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เยาวชนที่เก่ง และเยาวชนที่ติดเกม เพราะมีความสามารถ และรักด้านซอฟต์แวร์ รวมถึงเปิดเวทีให้ได้แสดงความสามารถ โดยมองว่า การผลิตบุคลากรปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อย แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด อีกทั้ง ยอมรับว่าบุคลากรในประเทศไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาวต่างชาติ แต่จะอ่อนในเรื่องของประสบการณ์ จึงต้องเข้ารับการอบรมที่ดี อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2551 ที่ผ่านมา มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนการพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางตลาด เพื่อสร้างรายได้ โดยตั้งเป้ามูลค่าซอฟต์แวร์เพิ่ม 1 แสนล้านบาท ภายใน 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2553-2554

รักษาการ ผอ.ซิป้า กล่าวด้วยว่า ซิป้าจัดสัมมนาวิชาการไอซีทีให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรม 6 ภาคธุรกิจขึ้น โดยที่ผ่านมา ดำเนินการไปแล้ว 5 ธุรกิจ ได้แก่ ท่องเที่ยว อาหารและอาหารแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ค้าปลีก และโลจิสติกส์ สร้างความเข้มแข็งให้ไอที และกลุ่มสุดท้าย คือ การแพทย์และสาธารณสุข ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์ปี 2551 ที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 4.5 พันล้านบาท โดยคาดการณ์ว่า ปี 2552 จะเติบโตขึ้น 10% ขณะเดียวกัน ที่ต้องเร่งเจรจากับ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เรื่องสิทธิประโยชน์ และการยกเว้นภาษีด้วย

ด้านนางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานของรัฐบาล การลงนามความร่วมมือกับ ซิป้า ในโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นแกนนำช่วยลดปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ที่กำลังเป็นปัญหาอย่างมากในประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการองค์กรอีกด้วย

ส่วนโครงการจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ทดแทนของเดิมที่เก่าชำรุด นั้น สสช.ได้กำหนดให้ติดตั้งซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ที่จำเป็นในการใช้งานลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ ถือเป็นการสานต่อโครงการได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ การที่ซิป้าให้บุคลากรมาให้คำปรึกษาและอบรมในการใช้งานโอเพ่นซอร์สให้กับ บุคลากรที่ สสช. ทั่วประเทศ ดังนั้น สสช.ก็จะเผยแพร่ความรู้และร่วมรณรงค์ให้หน่วยงานภาครัฐได้ใช้ ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่ถูกลิขสิทธิ์ต่อไป ตามเป้าหมายที่ซิป้า และกระทรวงไอซีทีได้ตั้งเป้าไว้.

ข่าวจาก : ไทยรัฐ
วันที่ : 10 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 16:51 น.