ฟื้นฟู 'ทีทีแอนด์ที' เจ้าหนี้ได้แต่ซาก !
ถึงตอนนี้ศึกชิงการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการระหว่างเจ้าหนี้และ บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในต่างจังหวัด ก็ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นแล้วหลังจากเจ้าหนี้เสียงข้างมากจำนวน 20 ราย เลือกบริษัท พี แพลนเนอร์ จำกัด ของนายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีทีแอนด์ที เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจาก บมจ.ทีทีแอนด์ที และเจ้าหนี้ต่อสู้ชิงความเป็นผู้บริหารแผนมาเป็นเวลาหลายเดือน





*****พลิกปูมทีทีแอนด์ที





ก่อนเจ้าหนี้จะส่ง พี แพลนเนอร์ เข้ามาเป็นผู้บริหารแผนนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) ของกรมบังคับคดีได้ปรับลดมูลหนี้ของ บมจ.ทีโอที ลงจากเดิม 20,700 ล้านบาท ลงเหลือ 4,848 ล้านบาท จากประเด็นเรื่อง บมจ.ทีโอที ยื่นแสดงหนี้สูงถึง 30,285 ล้านบาท แต่กลับไประบุในงบการเงินว่า บมจ.ทีทีแอนด์ที เป็นหนี้เพียง 300 ล้านบาท ตอนแรกนั้น เจ้าหนี้ได้มีมติเลือกให้ บมจ.ทีทีแอนด์ที เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 14 มกราคม 2552 แต่มีผู้คัดค้านการแสดงยอดหนี้มูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ของ บมจ.ทีโอที จนนำมาซึ่งการคัดค้านจากเจ้าหนี้และถูกปรับลดมูลหนี้ลงจนสิ้นสุดความเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ในที่สุด





นอกจากนี้ Avenue Asia ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศรายเดียวของบมจ.ทีทีแอนด์ที ที่มีมูลหนี้สูงถึง 1 ใน 3 ของมูลหนี้ทั้งหมดได้เสนอชื่อ บริษัท พี แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการแข่งกับ บมจ.ทีทีแอนด์ที และเจ้าหนี้เสียงข้างมากเลือก พี แพลนเนอร์ แทน บมจ.ทีทีแอนด์ที ในที่สุด





***ผู้บริหารทยอยลาออก


ในส่วน บมจ.ทีทีแอนด์ที ในช่วงที่ผ่านมามีทีมผู้บริหารลาออกหลายคน นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมของปีนี้ ซึ่งเป็นเวลาที่ บมจ.ทีทีแอนด์ที เป็นผู้บริหารแผน ตั้งแต่ นายประสิทธิชัย กฤษณยรรยง ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและงบประมาณ , นายสุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ, นายสุขุม เชาวน์ลิลิตกุล ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และล่าสุดหลังจากการประชุมโหวตผู้บริหารแผนฟื้นฟูเพียง 2 วันนายสุวิชาญ นิลอนันต์ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่





นอกจากนั้นบางสิ่งที่สร้างความกังขาให้กับเจ้าหนี้มากสุดคือ การสั่งปลดป้ายชื่อ บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) ลงพร้อมเปลี่ยนป้ายชื่อใหม่เป็น "MaxNet" ดำเนินการโดย บริษัท ทริปเปิลที อินเตอร์เนตฯ หรือ TTTI ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ "MaxNet" บริษัทลูกของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTT BB พร้อมกับปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหารดึงบางส่วนจากบมจ.ทีทีแอนด์ที มาเป็นผู้บริหารใน บริษัท ทริปเปิลที อินเตอร์เนต จำกัด


ยิ่งกว่านั้นกรณีของ TTT BB เกิดเหตุการณ์ปลดพนักงานไม่เป็นธรรม จนเจ้าหนี้วิตกว่าจะไม่เหลืออะไรแม้แต่พนักงาน และเจ้าหนี้รายที่ 32 ของ บมจ.ทีทีแอนด์ที คือ บริษัท เคลียร์ วอเตอร์ พาร์ทเนอร์ ฟันด์ ทรี แอลพีฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองพนักงานและทรัพย์สินของ บมจ.ทีทีแอนด์ที


+++สงสัยบมจ.จัสมิน


ไม่เพียงแค่เรื่องการเลิกจ้างหรือบังคับให้ไปสมัครงานกับบริษัทใหม่ TTT BB เท่านั้นเจ้าหนี้ของบริษัทยังเกิดข้อสงสัยต่อกรณี ที่บมจ.จัสมิน ไม่นำหุ้นบริษัท ทริปเปิล ที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTT BB เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามแผนเดิม





"จัสมินได้เสนอตัวต่อผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนให้ก่อนและจะนำ TTTBBระดมทุนเข้าตลาดในภายหลังเมื่อบริษัทเติบโตสร้างผลกำไรกลับจะไม่ระดมทุนทำให้ผู้ถือหุ้นมองว่าไม่ถูกต้อง" แหล่งข่าวในบมจ.ทีทีแอนด์ที ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ"





สำหรับบริษัท TTT BB จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ในช่วงแรกนั้นมีบมจ.ทีทีแอนด์ที ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ประเภทมีโครงข่ายเป็นของตนเองจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 จากนั้นได้เปิดตัวMaxNet TV บริการทีวีบนเครือข่ายบรอดแบนด์อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มิถุนายน 2549





บริษัทนี้ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกจำนวน 10 ล้านหุ้น โดยให้สิทธิ์แก่ผู้ถือหุ้นเดิมแต่ทีทีแอนด์ทีสละสิทธิ์การซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 9,999,930 หุ้นโดยมี บริษัท อคิวเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นหลักเป็นจัสมิน เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนสูงถึง 90.91% ส่งผลให้หุ้นที่ทีทีแอนด์ทีถืออยู่ลดเหลือเพียง 9.09% เท่านั้น และในการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทอคิวเมนท์ฯ ได้มีการทำข้อตกลงกับทีทีแอนด์ทีเรื่องนำTTT BB เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯหากมีกำไร


++TTTBBอู้ฟู่


จุดหลักที่ทำให้เจ้าหนี้เกิดข้อกังขาว่าจะได้บริษัทกระดาษคือผลประกอบการของบริษัทลูก คือ TTT BB ดูจะสวนทางกับ ทีทีแอนด์ที อย่างสิ้นเชิงเนื่องจากในช่วง 3 ปีก่อนหน้านับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงสิ้นปี 2551 รายได้ของ TTT BBเติบโตก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องจาก 285 ล้านบาทในปี 2549 เพิ่มเป็น 1,230 ล้านบาทในปี 2550 และเพิ่มอย่างต่อเนื่องเป็น 1,726 ล้านบาทในสิ้นปีที่ผ่านมา และผลักดันให้รายได้ของบริษัทแม่คือจัสมินโตอย่างโดดเด่นเช่นเดียวกันเห็นได้จากผลประกอบการในสิ้นปี 2551 จัสมินมีรายได้รวมทั้งของบริษัทและบริษัทย่อยรวม 5,350 ล้านบาท





ต่างจากบริษัททีทีแอนด์ทีฯ ที่รายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงล่าสุดมีผลการดำเนินงานขาดทุนสูงถึง 800 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา





นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทจัสมินฯ เคยออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนหน้าถึงเป้าหมายธุรกิจของ TTT BB ว่าจะผลักดันให้ขึ้นสู่ผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตภายในปี 2553 ด้วยลูกค้า จำนวน 1 ล้านราย





นั่นหมายความว่าการเติบโตทางด้านรายได้ของ TTT BB จะยิ่งสวนทางกับรายได้ของทีทีแอนด์ทีไปเรื่อยๆ จึงทำให้ บริษัท เคลียร์ วอเตอร์ พาร์ทเนอร์ ฟันด์ ทรี แอลพีฯ ต้องยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน คุ้มครองพนักงานและทรัพย์สินของ บมจ.ทีทีแอนด์ที เพราะกลัวเจ้าหนี้จะได้แต่ซากนั่นเอง !!!