เนรมิต 'มหาวิทยาลัยไซเบอร์' 'สามารถ'จับมือม.หอการค้าไทยพัฒนาอีเลิร์นนิ่ง วอนรัฐผลักดันงบสร้างบุคลากรมั่นใจ 3 ปี ตื่นตัว
"สามารถเทลคอม" เตรียมพัฒนาระบบอี-เลิร์นนิ่งให้กับม.หอการค้าไทย เผยอัตราการเติบโตยังไม่ขยายตัว แจงปัญหาอุปสรรคยังขาดแรงขับเคลื่อนภาครัฐวอนเร่งผลักดันงบประมาณรวมไปถึงบุคลากรยังขาดองค์ความรู้ มั่นใจภายใน 3 ปีกระแสตื่นตัวสูง
นายประสิทธิ์ชัย วีระยุทธวิไล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาระบบอี-เลิร์นนิ่ง (ระบบการศึกษาทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต) ให้กับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยใช้ชื่อหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ส่วนซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการนั้นใช้ชื่อว่า "UPLUS" หรือ U Plus Solutions for Cyber University
สำหรับซอฟต์แวร์ UPLUS นั้นประกอบด้วยชุดวิชา, ผลการศึกษา การเชื่อมต่อระบบการชำระด้วยบัตรเครดิตหรือ E PAYMENT และยังเชื่อมต่อวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ดังนั้นกิจกรรมในสถาบันการศึกษาสามารถตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ได้ในทันที
นอกจากนี้แล้วมหาวิทยาลัยรังสิตยังให้บริษัทพัฒนาระบบอี-เลิร์นนิ่งและได้เซ็นสัญญาไปก่อนหน้านี้โดยอี-เลิร์นนิ่ง ที่พัฒนาใช้สำหรับเป็นบทเรียนใส่เข้าไปในเว็บให้นักศึกษาใช้เรียนเสริมต่อจากหลักสูตรภาคปกติ และในอีกส่วน คือ Cyber U คือ การเรียนการสอนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตทางไกล มีด้วยกัน 3 สาขาวิชา คือ นิติศาสตรบัณฑิต (ปริญญาตรีใบที่สอง) (Bachelor of Law) ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำสังคม ธุรกิจและการเมือง (Master of Art, Leadership Society Business and Politics) และ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ (Master of Sciences Information Technology Management)
ส่วนกลยุทธ์ด้านการตลาดบริษัทเน้นสร้างทีมเวิร์กเน้นการตลาดในเชิงรุก และมุ่งเจาะตลาดโดยตรง ได้แก่ ตลาด Online Degree เน้นขยายสู่มหาวิทยาลัยของภาครัฐให้มากขึ้น , ตลาด Online Training จะเป็นการขยายโอกาสทางการตลาดไปสู่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยหัวข้อฝึกอบรมกว่า 300 หัวข้อ และ คิดค้น พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้เหมาะสมกับธุรกิจของลูกค้า โดยบริษัทจะเน้นดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยครบวงจร
นายประสิทธิ์ชัย ยังกล่าวต่ออีกว่าสำหรับการเรียนการสอนทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ตอัตราการเติบโตไม่รวดเร็วเท่าใดนัก เนื่องจากยังขาดแรงผลักดันจากภาครัฐ โดยเฉพาะงบประมาณยังไม่ถูกจัดสรรออกมา ดังนั้นภาคเอกชนบริหารจัดการต้องวางแผนทำธุรกิจล่วงหน้าไว้ก่อน แต่ก็ยังติดปัญหาการสร้างองค์ความรู้ และบุคลากร
สำหรับผลประกอบการนั้นไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากว่าระบบการเรียนการสอนผ่านทางอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นส่วนเสริมรายได้ในกลุ่มเท่านั้นแต่เชื่อว่าภายใน 3 ปีข้างหน้ามีอัตราการเติบโตขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะในเวลานี้บรรดาเอกชนอยู่ระหว่างตัดสินใจลงทุนเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า
"ตอนนี้ระบบการเรียนการสอนผ่านทางอินเตอร์เน็ตไม่ได้เป็นช่วงตั้งไข่ทุกคนเห็นว่ากำลังเป็นช่วงที่มีประสิทธิภาพ" นายประสิทธิ์ชัย กล่าว