มากคนมากความอาจารย์ที่สอนวิชาสร้างหนังแก่ผมที่นิวยอร์กเคยบ่นเชิงแดกดันบริษัทโปรดักชั่น เฮาส์ ขนาดใหญ่ว่า “ถ่ายทำโฆษณาแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นเดียว ต้องยกกองถ่ายไป 20-30 คน เว่อร์ที่สุด” ที่อาจารย์ว่า “เว่อร์” ก็เพราะอาจารย์ต้องทำทุกอย่างเอง ตั้งแต่การจัดแสง หามุมกล้อง ถ่ายหนังเอง ตัดต่อเอง

หลังจากทำงานและคลุกคลีกับหลายองค์กร ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ผมก็เห็นด้วยกับประเด็นที่อาจารย์พูด เป็นเรื่องจริงที่หลายองค์กรทำงานแบบ ‘ขี่ช้างจับตั๊กแตน’ จริงๆ

สมัยที่ผมยังทำงานโฆษณา บ่อยครั้งที่การเบรนสตอร์มหาความคิดสร้างสรรค์ซึ่งมีคนเต็มห้อง จบลงด้วยการไม่มีไอเดียไหนที่ ‘ปิ๊ง’ เลย แต่ความคิดที่ยอดเยี่ยมเกิดขึ้นบ่อยๆ จากการคุยกันระหว่างคนสองคนในเวลาไม่กี่นาที
บางครั้งมากคนก็มากความ

ทิศทางของการบริการในโลกมุ่งไปในทางที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น แนวนิยมในประเทศตะวันตกคือมักมองว่าคนที่เก่งหลายอย่างในตัวคนเดียวไม่เก่งเท่าคนที่เก่งอย่างเดียว

พนักงานหลายคนติดนิสัยบอกลูกค้าว่า “คุณต้องไปติดต่อแผนกโน้น” หรือ “แผนกนี้ไม่เกี่ยวค่ะ” ผลก็คือลูกค้าค่อยๆ หายตัวไปหาผู้ให้บริการรายอื่นที่บอกว่า “ได้ค่ะ”

หลายองค์กรใหญ่จึงต้องเริ่มปรับตัวให้ทุกคนในแผนกต้องตอบคำถามลูกค้าได้ทุกเรื่องแทนเพื่อนร่วมงานได้ ในกรณีที่ผู้ร่วมงานไม่อยู่

มนุษย์เราเกิดมาพร้อมสมองที่ทำงานได้หลายชนิด ลักษณะของสังคมบีบให้เราต้องเลือกเอาว่าจะใช้สมองไปในทางใด ถ้าเลือกเป็นหมอก็ห้ามเป็นวิศวกร ถ้าเลือกเป็นศิลปินก็ห้ามเป็นทนายความ ฯลฯ

คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ผมทำงานได้แทบทุกอย่าง ขายของก็ได้ สร้างบ้านก็เป็น ต่อโต๊ะต่อตู้ก็ไหว ซ่อมเครื่องมือต่างๆ ก็ได้ ทำอาหารก็ได้ ฆ่าไก่-ถลกหนังก็สบาย ปลูกผักก็ไหว ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากคนอื่นตลอดเวลา

เพื่อนคนหนึ่งของผมเรียนสองภาควิชาที่สองมหาวิทยาลัยในเวลาเดียวกัน คือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นข้อห้ามของนักศึกษา เขาวิ่งรอกเรียนทั้งสองแห่ง และสอบผ่านสบายๆ ทั้งคู่

ผมรู้จักคนไม่น้อยที่เรียนจบวิชาหนึ่ง แล้วไปเรียนต่อในอีกสายวิชาหนึ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คนเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน นึกจะเรียนอะไรก็เรียน อยากทำอะไรก็ทำ จึงเป็นคนที่รู้รอบตัว บางคนอาจบอกว่า “รู้มากคงไม่เก่งสักอย่าง”

อาจจะจริง สำหรับคนไม่อยากรู้มากจริงๆ เพราะคนที่เรียนหรือทำงานที่อยากทำจริงๆ นั้นมักจะเก่งและไปได้ไกลกว่า

การทำงานอย่างเดียวไปตลอดชีวิต ดูหนังประเภทเดียว กินอาหารแบบเดียว ฯลฯ อาจทำให้แผ่นเสียงชีวิตตกร่องได้ง่าย

เพราะเราทุกคนถูกสร้างมาให้ทำอะไรก็ได้ ดังนั้นใช้ชีวิตให้หลากหลาย ไม่ต้องเกรงใจมัน

(พิมพ์ครั้งแรก : เปรียว 2551)
วินทร์ เลียววาริณ
20 ธันวาคม 2551