การจัดงาน “Network Security Contest” ระดับอุดมศึกษาปีที่ 2 ถือเป็นเวทีระดับประเทศ ที่ให้โอกาสนิสิต นักศึกษาในยุคสารสนเทศได้แสดงความสามารถในทางสร้างสรรค์ ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยความร่วมมือของบริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น (TCS) ผู้ให้บริการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเล็งเห็นถึงความสามารถที่ซ่อนอยู่ในสมองเด็กไทย และพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการปลูกฝังด้านการเรียนรู้ป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร

ไพบูลย์ ชีวินศิริวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น กล่าวว่า Network Security Contest 2007 ได้รับความสนใจจากนิสิต นักศึกษาสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศส่งรายชื่อเข้าแข่งขันถึง 107 ทีม เพราะการนำเครื่องคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องมาเชื่อมต่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ พร้อมๆ กับมีการบริหารจัดการข้อมูลให้เป็นระบบระเบียบ นั่นก็คือ ระบบเครือข่าย หรือ Networking ทั้งนี้ แต่ละองค์กรย่อมมีข้อมูลที่เป็นกุญแจของการยุทธศาสตร์การบริหารงานไม่สามารถเผยแพร่สู่สาธารณะชนได้ จัดเป็นข้อมูลลับทางธุรกิจที่คู่แข่งจะรู้ไม่ได้เด็ดขาด จึงต้องมีการสร้างระบบป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลเหล่านั้น เทคโนโลยีด้านระบบรักษาความปลอดภัย (Security Solution) จึงมีความ สำคัญอันดับต้นๆ

ปองพล เหล่าชัยกุล และพรินทร์ แก้วซิม สองหนุ่มจากทีม Ciphertext_space มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ก้าวเข้ามาแข่งเป็นครั้งแรกก็คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมาก กับการได้รับรางวัลในครั้งนี้ คือไม่คิดมาก่อนเลยว่าจะได้รับรางวัล เพราะว่า มีทีมที่เข้าร่วมเป็นร้อยทีม สำหรับวิธีการเตรียมตัวในการแข่งมีหลายวิธี หนึ่งในนั้นก็คือ การบุกรุกตัวเองก่อน ทำให้เรารู้จุดอ่อนของเรา เราจะได้หาวิธีป้องกันได้ถูกและรักษาข้อมูลของเราให้มากที่สุด"

อีกทีมที่ต้องเอ่ยนามถึง เนื่องจากมาร่วมแข่งขันติดต่อกันถึง 2 ปี พร้อมๆ กับฝีมือการคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1ไปทั้ง 2 ปีเช่นกัน ก็คือ ทีมไม่แข่งยิ่งแพ้รีเทิร์น จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นพพล ศรีมุก และ จิรายุส นิ่มแสง กล่าวด้วยรอยยิ้มที่สดใสว่า

“ปีที่แล้วเตรียมตัวมาไม่ค่อยดี การตอบโจทย์จะเป็นแบบลุยอย่างเดียว แต่ปีนี้ก็เตรียมตัวดีขึ้น มีการอ่านหนังสือ มีติวกันก่อน ตั้งใจไว้แล้วว่าจะต้องกลับมาแข่งอีกครั้ง จึงพยายามทำให้ดีที่สุด ถึงแม้จะได้รางวัลเดียวกันแทนที่จะขยับไปได้รางวัลที่สูงขึ้น ก็ไม่เสียใจ เพราะว่า ปีนี้มีทีมที่เข้าแข่งเยอะมาก และยังเป็นสิ่งที่เตือนใจพวกเราได้ด้วยว่า เราต้องละเอียดถี่ถ้วนมากกว่านี้ “

ด้านผศ.พอ.น.พ.พันธุดิศ ทองอุปการ ที่ปรึกษา ศูนย์สารสนเทศวิทยาลัย และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และเกรียงศักดิ์ กิจกาญจนไพบูลย์ Security Consulting Department Manager บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น ที่มีส่วนร่วมในการจัดงานและร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินและมอบรางวัลในครั้งนี้ กล่าวถึงการแข่งขันในครั้งนี้ว่า “ปีที่แล้ว มีทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 10 กว่าทีม แต่ปีนี้มีทั้งหมด 107 ทีม ในรอบชิงชนะเลิศกรรมการออกข้อสอบแบบเจตนาที่จะให้ทำไม่ได้ ก็ปรากฏว่ามีผู้ที่ทำได้ดี ถือว่าเก่งมาก ต้องชมจริงๆ เพราะแค่เห็นโจทย์ก็คิดว่าต้องไม่ไหวแน่ๆ แต่ก็ทำกันได้ เรื่อง Network เป็นเรื่องที่ยากแต่จำเป็นสำหรับองค์กรทุกองค์กร น้องที่เข้าแข่งและได้รับรางวัลรองลงมาไม่ต้องเสียใจ เพราะคนที่ชำนาญด้านนี้โดยตรงมีน้อย ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนง่ายๆ คือ เว็บไทยหลายแห่งสามารถโดนแฮ็คได้ง่ายๆ โดยผ่านกูเกิลเท่านั้น การก้าวมาถึงจุดนี้ต้องขอชมเชยอย่างมาก”

ไพบูลย์กล่าวว่าผลของการแข่งขันทำให้เราได้มองเห็นถึงศักยภาพของเด็กไทยที่มีอยู่พอสมควร เพียงแต่ความรู้เกี่ยวกับระบบเครือข่าย (Network) และระบบรักษาความปลอดภัย (Security) ยังไม่แพร่หลาย หรือยังไม่ได้แยกออกมาเป็นหลักสูตรเฉพาะ TCS ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรักษาความปลอดภัยบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ จึงเป็นเหมือนตัวกลางในการกระตุ้นและจุดประกายให้หน่วยงานการศึกษาต่างๆ พัฒนาความสามารถของนิสิต นักศึกษา

"เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้ด้านเน็ตเวิร์ค และซีเคียวริตี้ให้มากขึ้น เพราะความต้องการของตลาดตอนนี้สูงมาก เราจึงผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา”

ผศ.วิชาญ เลิศวิภาตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (Uninet) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวว่า ถ้าพูดถึงการศึกษาหลักสูตร Network ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเรียนภาคทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ ในขณะที่การปฏิบัตินั้นจะช่วยให้นักศึกษาทุกคนรู้ในเรื่องการเรียนมากขึ้น ดังนั้น การที่เด็กได้มีโอกาสได้ฝึกการปฏิบัติหรือมีประสบการณ์มากขึ้นเป็นสิ่งที่ดี สำหรับโครงการนี้มองว่า เป็นเหมือนเอกลักษณ์อย่างหนึ่งไปแล้ว เพราะว่า รูปแบบ ของเนื้อหาด้านเทคโนโลยีนั้น ยังไม่มีหน่วยงานไหนที่จัดงานในลักษณะนี้มาก่อน

“หากมองในแง่ของการเตรียมตัวของนิสิตนักศึกษาเองแล้ว ถ้าเราจัดเป็นประจำ เด็กจะรู้และจะมีการเตรียมการ ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม สถาบันเองก็จะให้ความสนใจที่จะส่งเด็กมาประกวดที่นี่ ผมว่าจะเข้มข้นขึ้นทุกปีแน่นอน และก็จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมในปีต่อไปยิ่งขึ้น อย่างเช่นปีนี้ การที่เรามีการแนะนำเด็กในภาคทฤษฎีส่วนหนึ่งก่อน แล้วก็มาปฏิบัติเป็นสิ่งที่ดี บางครั้งเราจับเขามาเลยไม่ได้ติว การเตรียมตัวของเด็กอาจจะลำบากนิดหนึ่ง”