โดย ผู้จัดการออนไลน์
เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้นที่ญี่ปุ่นมีงานโตเกียว เกมโชว์ 2003 งานนี้บรรดาค่ายเกมทั้งหลายโดยเฉพาะในญี่ปุ่นไม่มีพลาด แต่ที่น่าสังเกตก็คือ บรรดานักพัฒนาเกมบนมือถือต่างก็พาเหรดเข้าไปร่วมงานนี้อย่างคับคั่ง อาจเป็นเพราะตลาดเกมบนมือถือในญี่ปุ่นนั้นพัฒนาไปมากจนเป็นอุตสาหกรรมมีอนาคตไปแล้ว
จุดที่น่าสนใจก็คือ โปรแกรมที่พัฒนาเกมบนมือถือที่มาแรงที่สุดในขณะนี้คือ Brew โดยมีเจ้าของเทคโนโลยีคือ Qualcomm ยักษ์ใหญ่ทางด้านโทรคมนาคมจากอเมริกาเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ตัวนี้ คู่แข่งที่สำคัญของ Brew ในตลาดตอนนี้หันไปแล้วก็มีแต่ Java จากค่าย Sun Microsystem เพียงรายเดียว
ความจริงผู้ใช้มือถืออย่างพวกเราไม่จำเป็นต้องสนใจว่าเขาจะใช้อะไรเขียนให้เรา เพียงแต่เราเล่นและชอบใจก็น่าจะเพียงพอ แต่ความจริงแล้วรู้ไว้บ้างก็ดี เนื่องจากเครื่องมือถือรุ่นต่อไป คุณอาจจะเห็นเขาเขียนว่ามีคุณสมบัติ brew2.0 ติดมาด้วย และถ้าเราไม่ได้ใช้ก็จะรู้สึกว่ามันจะไม่คุ้ม น่าจะเรียนรู้กันเอาไว้สักหน่อย
ว่าไปแล้วต้องถือว่า Qualcomm นั้นคิดการณ์ใหญ่ในตลาดแอพลิเคชันบนมือถือเลยทีเดียว เพราะกว่าจะออกมาตรฐาน Brew ออกมาได้นั้น Qualcomm ต้องเริ่มจากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู้ผลิตมือถือ เนื่องจากต้องเปลี่ยนให้มาใช้ชิปที่มีเทคโนโลยีของ Qualcomm ฝังเข้าไปในเครื่องด้วย ซึ่งงานนี้นอกจากจะต้องพัฒนาและวิจัยเจ้าชิปตัวนี้ให้ทันสมัยแล้วยังต้องเผยแพร่การใช้งานชิปตัวนี้ออกไปในรูปแบบของซอฟต์แวร์ให้กับสาธารณชนเพื่อเขียนแอพลิเคชันสนับสนุนด้วย
Qualcomm นั้นก็นำซอฟต์แวร์ตัวนี้ไปให้ดาวน์โหลดกันฟรีๆ บนเว็บไซต์ของตนเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของวงการนี้ ใครๆ ก็ทำกัน แต่จุดใหญ่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น เพราะ Qualcomm ก็เดินหน้า Lobby ให้บรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งหลายโดยเฉพาะพวกที่แปลงตัวเองมาเป็น CDMA2000 1x ระบบที่เรียกว่าเข้าใกล้ 3g มากที่สุดได้เห็นคุณความดีของมัน
สิ่งที่เป็นจุดขายของ Brew ก็คือ มันเป็นซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นมาสำหรับการใช้งานของโทรศัพท์มือถืออย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลด การใช้แอพลิเคชันผ่านระบบโทรศัพท์มือถือด้วย air time ไม่เหมือนกับ Java ซึ่งความตั้งใจของมันคือการเขียนเพื่อใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด และต้องการให้มันอ่านถึงกันได้หมด ทำให้ Java กลายเป็นภาษาที่เทอะทะในวงการโทรศัพท์มือถือ เวลาเรียกมาแต่ละครั้งนอกจากกิน memory แล้วยังช้าอย่างมาก
ผมเองไม่อยากลงลึกทางด้านเทคนิค เพราะคิดว่าอีกไม่นานคงจะมีคนรีวิวเจ้าซอฟต์แวร์ตัวนี้อีกมาก โดยเฉพาะนิตยสารที่เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการทำธุรกิจของ Qualcomm ในส่วนของ Brew เนื่องจากมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนคิด
นั่นคือ อย่างที่บอกว่า Qualcomm นั้นเข้าไป Lobby ผ่าน operator จุดที่น่าสนใจของการ lobby ก็คือ Brew นั้นมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ในการจัดการเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ ทำให้ทั้ง content provider และ operator มีความชัดเจนและง่ายต่อการบริหาร โดยมี Qualcomm อยู่ในส่วนแบ่งนั้นด้วย
น่าสนใจไหมครับว่าจากเดิมที่ถ้าเป็น Java ทาง Sun แทบจะไม่มาเกี่ยวข้องเลย แต่สำหรับ Brew นั้น ทั้งค่าใช้ซอฟต์แวร์และการใช้ลิขสิทธิ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแบ่งปันผลประโยชน์กับเขาขึ้นมาแล้ว เอาง่ายๆ ว่าถ้าโหลดเกมเข้ามาที่เครื่องคิดเงินประมาณ 20 บาท จากเดิมที่ operator กับ content provider จะแบ่งกันคนละ 50/50 แต่งานนี้ Qualcomm ขอเข้าไปมีเอี่ยวในส่วนแบ่งนี้ อาจเป็น 40/50/10 เรียกว่ากินกันยาวๆ ดังนั้นหน้าที่ของ Qualcomm ในช่วงนี้ นอกจากจะต้องทำให้คนมาพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนี้กันเยอะๆ แล้ว ยังต้องให้ Operator ทั้งหลายเห็นดีเห็นงามกับส่วนแบ่งที่ต้องตกลงกันในแต่ละประเทศ
ทีเด็ดอีกอย่างหนึ่งคือ ใครที่มาพัฒนาเกมบน Brew นั้นทาง Qualcomm ต้องรับหน้าเสื่อทำตลาดระหว่างประเทศไปให้ในตัว แต่ละคนสามารถส่งซอฟต์แวร์ของตัวเองขึ้นมาบนเว็บกลางของ Qualcomm ต่อจากนั้นเมื่อ Operator รายใดที่ติดต่อเข้ามาและอยากได้แอพลิเคชันไปใช้ในประเทศตนเอง ก็สามารถช้อปปิ้งไปได้เลย วิธีนี้ก็เป็นการแชร์ซอฟต์แวร์เพื่อช่วยกันโปรโหมดให้ Brew เกิด เพราะทาง Operator ก็มีของไปให้ลูกค้าตัวเองเลือก ส่วน Qualcomm ก็ได้ส่วนแบ่งไปทั่วโลก และคนพัฒนาซอฟต์แวร์ก็สามารถเปิดตลาดโลกได้ในทันที ไอเดียนี้ต้องขอปรบมือให้เลยทีเดียว
ในบ้านเราตอนนี้ Operator ที่เข้าไปเจรจากับ Qualcomm และอยู่ระหว่างตกลงรายละเอียดกันก็คือ Hutch เนื่องจากระบบ CDMA ของ Hutch นั้นเอื้อเหลือเกินกับระบบ Brew และเชื่อว่าพอตกลงกันได้เราจะเห็นซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่เคยโด่งดังในต่างประเทศจะพาเหรดเข้ามาในประเทศไทยเป็นว่าเล่น
อยู่ที่ว่าการตกลงเรื่องส่วนแบ่งผลประโยชน์จะลงตัวหรือไม่ เนื่องจากการเก็บผลประโยชน์ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ในญี่ปุ่นนั้นแม้จะมีมาตรฐานแบ่งกันระหว่าง Operator กับ Content Provider ที่ 10/90 แต่ Operator นั้นเวลาเก็บค่าบริการกับลูกค้าจะมีการเก็บล่วงหน้า และมีวิธีเก็บที่หยุมหยิมหลายขั้นตอน ไม่เหมือนเมืองไทยที่จะเก็บกันตอนโหลดทีเดียว ดังนั้นจึงมาอยู่ที่ 50/50 แล้ว Qualcomm จะมาแชร์กับ Hutch อย่างไรจึงเป็นเรื่องที่วงการข่าวทั่วไปสนใจอย่างยิ่ง
บทความโดย jeffy_archer@hotmail.com