เนคเทคเผยสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านระบบออนไลน์ พบการใช้ไม่ได้ต่างจากเดิม กลุ่มผู้ใช้ Dial up ลดลงแต่บรอดแบนด์เพิ่มขึ้น และให้ความสำคัญกับการมีแหล่งยั่วยุทางเพศบนเน็ตเพิ่มจากปีที่ผ่านๆมา ส่วนโมบายคอนเทนต์ยังเป็นเอสเอ็มเอสมากสุด ตามด้วยเกม

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า เนคเทคได้มีการสำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2550 ด้วยรูปแบบการสำรวจออนไลน์ผ่าน www.nectec.or.th/srii/internetuser_survey2007 ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. จำนวน 28,582 คน เป็นหญิง 57.1% ชาย 42.8% อายุระหว่าง 21-25 ปี คิดเป็น 19.9% รายได้ครัวเรือนต่อเดือน 3-5 หมื่นบาท 20% ระดับการศึกษาสูงสุดปริญญาตรี 52.7% ทำงานอยู่บ้าน 52% โดยมีที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งพบว่ามีการใช้อินเทอร์เน็ตจากบ้านมากสุด 47.9% ช่วงเวลาที่ใช้มากสุดสองทุ่มถึงเที่ยงคืน 34.7% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยผ่านเทคโนโลยีเอดีเอสแอล 36.8%

กิจกรรมที่ทำบนอินเทอร์เน็ตที่ทำมากสุด 3 อันดับแรกคือ การค้นหาข้อมูล 22.9% อีเมล 20.5% เล่นเกม 9.8% ส่วนปัญหาสำคัญบนอินเทอร์เน็ต เป็นเรื่องของแหล่งยั่วยุทางเพศได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้นจากปี 2548 อยู่ที่ 36.9% เพิ่มเป็น 42.9% ใน 2550 (ปี 2549 ไม่ได้ทำการสำรวจ) ไวรัสจาก 66.3% เหลือ 62.7% การสื่อสารล่าช้า เท่าเดิม 54.9% อีเมลขยะจาก 42.5 เหลือ 37.4% การใช้คำหยาบจาก 35.1% เหลือ 33.6%

ประเด็นที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ ใน 3 อันดับแรกคือ การโจมตีจากไวรัสและการรักษาความมั่นคงของเครือข่าย 36.8% การกระจายความทั่วถึง 33.3% การแก้ปัญหาการหลวกลวงทางอินเทอร์เน็ตและอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์ 23.8%

ส่วนการซื้อสินค้าหรือบริการบนเน็ต ไม่เคย 71.1% เคย 28.9% โดยการซื้อสินค้าและบริการส่วนใหญ่เป็นหนังสือ 33.4% การสั่งจองบริการต่างๆ 25.5% เพลงออนไลน์ (ดาวน์โหลด) 20.9% โดยมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2548 ที่มีประมาณ 10.7% ทั้งนี้ สาเหตุที่มีซื้อสินค้าหรือบริการผ่านเน็ตคือ ไม่ไว้ใจผู้ขาย 58.5% ไม่สามารถจับต้องสินค้าได้ 58.5% ไม่มั่นใจระบบชำระเงิน 42.9% ไม่ต้องการส่งข้อมูลบัตรเครดิต 39.4% ขั้นตอนการสั่งซื้อยุ่งยาก 27.6%

ด้านการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ เป็นการใช้ผ่านเทคโนโลยีเอดีเอสแอล 83.4% เคเบิลโมเด็ม 7.6% ส่วนการใช้และไม่ใช้ บรอดแบนด์ปรากฏว่า มีผู้ที่ใช้ภายใน 1 ปีที่ผ่านมา 39% ส่วนผู้ที่ไม่ใช้ให้เหตุผลว่า ราคาแพงเกินไป 60.7% ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ 34.9% ไม่รู้รายละเอียดในการใช้ติดต่อขอบริการ 34.2%

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังระบุถึงประเภทของบริการเนื้อหาดิจิตอลบนโทรศัพท์มือถือที่รู้จักและเป็นที่นิยมใช้ โดยเป็นผู้ที่เคยใช้บริการเป็นเอสเอ็มเอส 62.6% เกมมือถือ 49.9% ดาวน์โหลดภาพและริงโทน 45.8% ที่ไม่เคยใช้แต่ไม่สนใจคือชำระค่าบริการต่างๆ 39.4% ชมทีวีออนไลน์ (เท่ากับเป็นการชำระค่าบริการ) 39.4% สนทนาออนไลน์ (msn, google talk) 38.9%

ปัจจัยที่ทำให้ใช้บริการเนื้อหาดิจิตอลบนมือถือใช้เฉพาะความสะดวกในการใช้บริการ 57.5% แปลกใหม่ทันสมัย 31.1% ค่าบริการไม่แพง/ประหยัดกว่าวิธีอื่น 15.9% สามารถเลือกรับชมและฟังรายการย้อนหลังได้ 8.7% รับชมและฟังรายการต่างประเทศได้ 7.9%

ประเภทเพลงที่ผู้ใช้ดาวน์โหลมากสุดเป็นเพลงไทยสากล 45.4% เพลงสากล 16.5% เพลงไทยเดิม 12.7% ประเภทรายการที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรับชมมากสุดจากการชมทีวีออนไลน์ปรากฏว่าเป็นรายการเพลง 32.9% รายการข่าว 27.9% ละคร 8.6%

ด้านการกำกับดูแลเนื้อหาบนสื่ออินเทอร์เน็ตควรมี 79.3% ไม่ควรมี 13.3% ไม่มีความเห็น 7.1% ไม่ตอบ 0.2% ทั้งนี้ สาเหตุที่ควรมีการกำกับดูแลเนื้อหาบนสื่ออินเทอร์เน็ต เพื่อความปลอดภัยของเยาวชน 66.7% ความสงบของสังคม 27.9% ไม่มีความเห็น 5.4% ส่วนหน่วยงานที่ควรทำหน้าที่กำกับดูแลเนื้อหาบนเน็ตคือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที 83.2% คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) 4.2% สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4% คณะกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ซึ่งยังไม่เกิด 2.4% กรมประชาสัมพันธ์ 1.9% อื่นๆ 4.2%

รองผู้อำนวยการเนคเทคสรุปว่า สิ่งที่ได้จากสำรวจปี 2550 ปรากฏว่า การใช้เน็ตไม่ได้ต่างจากเดิมมาก แต่การใช้แบบ Dial up ลดลง มีการใช้บรอดแบนด์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการมีแหล่งยั่วยุทางเพศบนสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นอันดับต้นๆ และเพิ่มจากปีก่อนๆ ส่วนบริการโมบาย คอนเทนต์ ที่ใช้มากยังเป็นเอสเอ็มเอส, โมบาย เกม, ดาวน์โหลดภาพและริงโทน ขณะที่บริการที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ การชำระค่าบริการและการรับชมทีวี/เคเบิลทีวีผ่านมือถือ



โดย ผู้จัดการออนไลน์ 19 ตุลาคม 2550 09:39 น.