เราจะต้องมีความเข้าใจถูกต้องในข้อที่ว่า เราเกิดมาทำไม ? ทุกท่านต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องว่า เกิดมาทำไม ? ทีนี้ จะตอบอย่างกำปั้นทุบดินว่า เกิดมาเพื่อมีอนามัยดี ทั้งทางร่างกายและทางจิต อย่างนี้ถูกที่สุดเลย. ฉันนี้เกิดมาเพื่อมีอนามัยดีทั้งทางกายและทางจิตใจ ; อนามัยทางจิตดีนั้นถ้ามัน ถึงยอดสุด คือนิพพาน : คือความหมดกิเลส.
อนามัยทางกาย ก็นับว่าเอาละพอละ มีความสบายทางกาย ; เพราะว่าโรคทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณมันไม่มี ร่างกายสดชื่นแจ่มใส แม้แต่ตายก็ยิ้มตายมันก็หมดปัญหา ; ไม่มีใครว่าเราได้. จึงขอให้เราหัดคิดว่า เราเกิดมาทำไม นี้ให้ถูกต้อง ; แล้วจะเข้าใจคำว่าอนามัยดีหมด เพราะ เกิดมาเพื่อมีอนามัยดีทั้งทางกายและทั้งทางจิต.
เดี๋ยวนี้เรามีความคิดสับสน สับสนทั้งทางร่างกายและทางจิต มีความเชื่อหรืออะไรก็สับสนปนกัน ยุ่งไปหมด ความทุกข์ ความสุข หรือนิพพาน. มีกี่คนที่รู้จักว่า นิพพานคือยอดสุดของอนามัยทางจิต. เขาจะพูดว่าสุข สุข นี้ ไม่มีอะไรจะสูงสุด ไม่มีอะไรยิ่งกว่าความสุข เพราะไม่รู้จักว่า นิพพาน คืออะไร ? มีความหมายอย่างไร ?
อาตมากำลังมาบอกว่า นิพพานนั่นแหละคือยอดสุดของอนามัยทางจิต คือตั้งรากฐานเป็นพื้นฐานของอนามัยทางกายด้วย. มันต้อง มีความเย็นอกเย็นใจ จึงจะมีความเยือกเย็นทางร่างกาย. อย่าเข้าใจว่ามีความเยือกเย็นทางร่างกายก่อน แล้วจะมีความเยือกเย็นทางใจ ; นั้นมันเป็นไปไม่ได้. อย่างนั้นมันเป็นวัตถุนิยมอย่างที่พวกคอมมิวนิสต์เขาพูดถึง ให้กายดีเสียก่อนแล้วใจจะดี นี่เป็นอุดมคติของพวกวัตถุนิยม ที่เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นหัวโจก. แต่ว่าถ้าให้ จิตดีเสียก่อนแล้วร่างกายจะดีเอง นี่คือธรรมะในพระพุทธศาสนา ; หรือศาสนาไหนก็ตาม ต้องแก้ไขทางจิตใจให้ดีเสียก่อน โดยมีอนามัยทางจิตให้ดีเสียก่อน แล้วอนามัยทางกายจะดีไปตาม. ความเป็นไปทางจิตถูกต้องให้ดีเสียก่อน ความเป็นไปทางบ้านเรือน ร่างกายทางภายนอกก็จะดีไปตาม.
ได้พูดมาแล้วว่า ความรู้ทางธรรมะนี้มันช่วยการพัฒนา เป็นตัวการพัฒนา ก็อยากจะแนะที่ตรงนี้เลยว่า ให้เข้าใจคำ ๓ คำนี้ให้ถูกต้อง : คำว่า ความทุกข์ คำหนึ่ง ความสุข คำหนึ่ง แล้วคำว่า นิพพาน อีกคำหนึ่ง ช่วยจำไว้ให้ดีว่า : ความทุกข์คำหนึ่ง ความสุขคำหนึ่ง นิพพานคำหนึ่ง มันไม่ใช่อันเดียวกัน. แต่เดี๋ยวนี้เอามาปนกันยุ่ง เพราะว่าคำพูดทำให้เข้าใจผิด คำพูดมันสับปลับ คำพูดที่พูดกันอยู่นี้มันสับปลับ ในวัดวาก็พูดกันสับปลับ ไป ๆ มา ๆ ปนกันยุ่ง.
สิ่งที่ ๑ ความทุกข์ หมายความว่า มันต้องทน ทนยากเหลือทน กระทั่งทนไม่ไหว เรียกว่าความทุกข์. ความทุกข์คือสิ่งที่ทนยาก ทนอย่างเหลือทน กระทั่งทนไม่ไหว กระทั่งตาย.
สิ่งที่ ๒ ความสุข นั้นทนง่าย น่าทน แล้วก็ ชวนให้ทน. ความสุขนี้มันทนง่าย ; เพราะมันสนุกในการทน มันจึงน่าทน แล้วมันชวนให้ทน.
สิ่งที่ ๓ คือ นิพพาน นี้ไม่ต้องทนอะไรเลย. แล้วไปดูความแตกต่างของมันซิ ความทุกข์นี้มันต้องทน เหมือนกับเอาไฟเผา เอาไฟลน เหมือนถูกอะไรทิ่มตำอะไรแทงอยู่เสมอ ต้องทนถึงขนาดนี้เป็นความทุกข์ : ส่วนความสุขนั้นทนเหมือนกัน แต่มันทนง่าย แล้วมันสนุกในการทน มันชวนให้ทน มันน่าทน.
เปรียบเทียบเห็นง่าย ๆ อย่างว่าเป็นคนขอทานนี้ มันทนยาก แต่ถ้าเป็นเศรษฐี เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอะไรอย่างนี้ มันน่าเป็น มันน่าทน. เป็นนายกฯ มันต้องทน ; แต่ก็เห็นอยู่ว่ามันต้องทน มีมีภาระที่จะต้องทน แต่มันน่าทนและมันชวนทน. ถ้าเป็นสัตว์นรกมันก็เหลือทน ; แต่ถ้าเป็นเทวดาในสวรรค์ อิ่มเอิบด้วยกามารมณ์ มันก็น่าทนหรือชวนทน. แต่แล้ว มันก็มีการทนอยู่ตลอดเวลา เหมือนกัน ; ต้องทน ไม่ใช่ไม่ทน. กินของขมก็ต้องทน กินของหวานก็ต้องทน. ไม่เชื่อไปลองดู แต่ว่ากินของหวานนั้นมันไม่รู้สึกในความที่ต้องทน ; เพราะมันชวนให้กิน กินเข้าไป ๆ มาก มันก็ต้องตายเหมือนกัน.
การบริโภคกามารมณ์ ที่ถือกันว่าเป็นเรื่องวัตถุประสงค์ของความเหงื่อไหลไคลย้อยนี้ เพื่อผลของกามารมณ์นี้ , ได้มา กินเข้าไปซิ มันก็ต้องทน ทนหลาย ๆ แง่, แล้วทนในทางจิตทางวิญญาณด้วย. ฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่าความสุขก็คือสิ่งที่ต้องทน ; แต่ว่ามันทนง่าย หรือน่าทน หรือชวนทน. ส่วน นิพพานนั้นไม่ต้องทนอะไรเลย มันต้องต่างกันลิบถึงขนาดนี้.
ทีนี้ เรามองดูในเรื่องอนามัย เราจะแก้ไขให้ไปในทางที่ไม่ต้องทนอะไรเลย. อย่าลืมคำพูดที่ได้กล่าวในตอนต้นว่า อนามัยคือปกติภาวะที่มนุษย์จะไม่ต้องทนอะไรเลย ; นั้นเป็นเจตนารมณ์ของความหมายของคำ ๆ นี้. เราจะต้องแก้ไขไม่ให้ต้องมีการทน ไม่อร่อยเราก็ต้องทน อร่อยเราก็ต้องทน ; แต่ถ้าเราเลิกไปเสียหมดได้ ทั้งอร่อยทั้งไม่อร่อย : นั่นแหละคือไม่ต้องทน.
ความเป็นอยู่ที่สายกลาง หรือตรงกลางอย่างยิ่ง หมายความว่า นิพพาน ไม่ได้ ไม่เสีย ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่อะไรทุกอย่างเลย ไม่มีอะไรที่เป็นคู่ ๆ จึงจะไม่เป็นเรื่องทน. จิตในขณะที่เราไม่ขมไม่หวานนั้นแหละไม่ต้องทน ถ้าขมก็ต้องทนขม ถ้าหวานก็ต้องทนหวาน. อนามัยที่ถูกต้องแท้จริงต้องเป็นภาวะที่ไม่ต้องทน. ที่ปราศจากความทน จึงจะเป็นอนามัยที่แท้จริง ที่ทำให้มีความปกติสุข ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ.
ถึงแม้ว่า การทำส้วม การทำบ่อน้ำ การทำความสะอาดบ้านเรือน จะเป็นเรื่องเบื้องต้นก็ตาม แต่เจตนารมณ์ของมันเป็นไปเพื่อไม่ต้องทน ; ฉะนั้น อย่าไปทำจนต้องทน หรือหลงในการทน หรือชวนทน เตลิดเปิดเปิงไปทางโน้น ; หรือว่าปล่อยปละละเลยในการต้องทน จนไม่ไหว จนเหม็นอื้อไปหมด ! อย่างนี้มันก็ไม่ได้. มันต้องอยู่ในระดับที่ไม่มีการต้องทน.
ดังที่พูดมาเมื่อกี้นี้ว่า ถ้ามันเฟ้อมากไป เปลืองมากไป หรือเต็มรุงรังไปหมดด้วยเครื่องวัตถุอนามัย เต็มบ้านเต็มเรือน มันก็อยู่ไม่ได้บ้านนั้น. มันยิ่งจะต้องมีความต้องทนอะไร ๆ , มันเลยต้องทนทางเศรษฐกิจ มันต้องทนทางเก็บรักษา มันก็เกินไป ; เอาแต่ว่ามันเป็นภาวะที่ไม่ต้องทน ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นอนามัยที่ดี. เราไม่ได้พูดถึงตู้เย็น, ไม่ได้พูดถึงเครื่องล้างชาม, ไม่ได้พูดถึง เครื่องสำรวยสำอางอะไรเลย ; เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกับอนามัย ; มันเกี่ยวกับการสะดวกสบายหรือเป็น การตามใจกิเลส อย่างอื่น, แล้วมันต้องทนต้องหาเงินมามาก ๆ ต้องเก็บรักษามาก ต้องลำบากมาก มันก็กลายเป็นเรื่องต้องทน อย่างทนหวาน.
เดี๋ยวนี้เราจะไม่ทนทั้งขมและหวาน, จะปราศจากความทนโดยประการทั้งปวง จึงจะเรียกว่า ตรงตาม spirit ของคำว่าอนามัย ; ไม่ทรมานกาย ไม่ทรมานจิต ให้มีความพักผ่อนทั้งทางกายและทางจิต นั้นแหละคือความหมายของคำว่านิพพาน ; ฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่าอนามัย ก็คือปัจจัยแห่งความไม่ต้องทน.
อาตมาก็ไม่รู้ว่าจะใช้คำพูดอะไรให้มันรัดกุมกว่านี้. สิ่งที่เรียกว่าอนามัยนี้คือ ปัจจัยแห่งความไม่ต้องทน ; ถ้าไม่ต้องทนแล้วก็เป็นสุขเลิศ เป็นนิพพาน ; ถ้ายังต้องทนขม ทนหวาน อยู่แล้ว ไม่ไหวทั้งนั้น มันใช้ไม่ได้ทั้งนั้น.
สรุปความว่า รวมความกันที่ว่าเรื่อง อนามัยนี้ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก ๆ ; และไม่ใช่เรื่องของชาวบ้านร้านตลาด, ทำเพียงป้องกันแมลงวันหรืออะไรทำนองนั้น. มันเป็นการประพฤติธรรมอย่างสูง คือทำไป เพื่อให้ถึงภาวะที่ไม่ต้องทน ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกันกับนิพพาน. เดี๋ยวนี้มันเป็นไปไม่ได้ มันติดขัดอยู่ตรงที่คนเป็นโรคทางวิญญาณ, มนุษย์กำลังเป็นโรคทางวิญญาณ ; คือความเห็นแก่ตัว แม้จะชักชวนทำส้วมใช้เอง ก็ไม่เอา ; อย่าว่าถึงจะทำส้วมสาธารณะเป็นต้นเลย. นั้นแหละคือโรคทางวิญญาณ โรคเห็นแก่ตัวจัด ; นี้เป็น สิ่งที่น่าหัวเราะที่สุดในโลก คือการที่ต้องขอร้องให้ทำอะไรเพื่อตัวเอง.
คุณไปคิดดูเถอะ อย่าว่าอาตมาประชดแดกดันอะไรเลย สิ่งที่น่าหัวที่สุดคือ การขอร้องให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ; ต้องให้คนอื่นมาขอร้องชักชวนชี้ชวนบังคับให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง นี่อะไรจะมาน่าหัวเท่าสิ่งนี้ไม่มี. ฉะนั้น ควรจะเลิกกันเสียที สิ่งที่น่าหัวกันที่สุดนี้เลิกกันเสียที. ไปบอกญาติโยม มิตรสหาย ลูกเล็กเด็กแดงอะไรให้เลิกกันเสียที, ให้ เลิกภาวะที่ต้องให้ผู้อื่นมาขอร้องชี้ชวนให้ทำทุกสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองนี้ มันน่าละอายที่สุดในโลก, แล้วก็ยัง น่าขบขัน น่าหัวเราะที่สุดในโลกด้วย.
ทุกคนก็เห็นแก่ตัวอยู่แล้ว ควรจะเห็นแก่ตัวให้ถูกทาง ก็ทำประโยชน์แก่ตัวก็แล้วกัน, ความเห็นแก่ตัวนั้นมันเป็นต้นทุนพอแล้ว ทำทุกอย่าง ทำอะไรสักนิดหนึ่งก็ให้เป็นการทำลายความเห็นแก่ตัว. พวกเด็ก ๆ จะช่วยทำความสะอาดอะไรสักนิดหนึ่ง ก็ให้มุ่งว่าเราจะทำลายความเห็นแก่ตัว ให้มีจิตใจดีขึ้น, แล้วส่วนนอกนั้นเป็นผลพลอยได้เล็ก ๆ น้อย ๆ และให้ถือว่า เวลานั้นแหละคือการปฏิบัติพระธรรมในพระพุทธศาสนา, ศาสนาทุกศาสนา ไม่เฉพาะแต่พุทธศาสนา ต่างมุ่งหมายทำลายความเห็นแก่ตัว.
อย่าเข้าใจผิด อย่าไปดูถูกศาสนาอื่น เพราะว่าที่เป็นเนื้อแท้ ที่เป็นหัวใจของศาสนา ทุกศาสนานั้น มุ่งกำจัดทำลายความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น, ไปศึกษาดูให้ดีเถอะ นอกนั้นเป็นเรื่องฝอย เรื่องปลีกย่อย ; อย่าไปเอาเข้ามาเป็นหลัก ; หลักใหญ่นั้นเขาให้ทำลายความเห็นแก่ตัว. ศาสนาพุทธสอนให้ทำลายความเห็นแก่ตัว จนไม่มีตัว จนหมดตัว เป็นพระอรหันต์ไปเลย.
ศาสนาต่าง ๆ ที่มีพระเจ้า ศาสนาคริสต์ อิสลามอะไรก็ตาม เขามีพระเจ้า เขาว่าเอาตัวไปให้พระเจ้าเสีย, เอาตัวไปให้พระเจ้าเสีย อย่ามีตัวของตัวเป็นอันขาด แล้วก็ ทำตามพระเจ้าสั่ง ก็เลยทำอย่างที่ว่านี้ : เป็นการพัฒนาทั้งทางกายและทางจิตตามที่พระเจ้าสั่ง. มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ? เพียงแต่พูดคำเดียวว่า นี่เป็นเรื่องพระเจ้าสั่งไปทำส้วม ทำบ่อน้ำ ทำอะไรก็ตาม เขาก็ทำกันพรึบไปเลย. เดี๋ยวนี้ไม่มีใครนับถือพระเจ้า ไม่รู้จักพระเจ้า ไม่รู้จักหัวใจของศาสนาของตัว เลยต้องเข็นกันเหมือนอย่างที่เข็นครกขึ้นภูเขา.
ทีนี้ ถ้าจะให้ดีถึงที่สุด ก็ต้องคิดว่า เราเกิดมาเพื่อส่วนรวม เกิดมาเพื่อผู้อื่น ; อย่ามีตัว อย่ามีความเห็นแก่ตัว นั้นแหละเป็นเรื่องจบ เป็นเรื่องที่สิ้นสุดของมนุษย์ ไม่มีอะไรดีที่สุดยิ่งกว่านั้นอีกแล้ว. พระพุทธเจ้าท่านเกิดขึ้นเพื่อผู้อื่น ท่านทำเพื่อผู้อื่น, เรื่องของตัวเป็นเรื่องเล็กน้อย แล้วก็สอนให้ทุกคนเห็นแก่ผู้อื่น ; พอเห็นแก่ผู้อื่น มันทำชั่วไม่ได้ แล้วการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น มันเป็นการทำดี ทำให้ตัวมีกินมีใช้ พร้อมกันไปในตัว. ฉะนั้น จึงไม่ห่วงตัว โดยฝากไว้กับการเห็นแก่ส่วนรวมนั้นแหละทั้งหมดเลย.
ถ้าเราทำเพื่อประเทศชาติ มันต้องมีกินมีใช้ด้วย เพราะว่าประเทศชาติมันรวมทั้งเราด้วย ; แล้วเราก็ทำเพื่อประเทศชาติ มันจะอดไปได้อย่างไร. ชีวิตนี้ต้องจบลง โดยบทสุดท้ายว่า เพื่อผู้อื่นจึงจะสมบูรณ์. ไม่มีใครฝันอย่างนี้ ไม่มีใครหวังอย่างนี้ และไม่กล้าหวังอย่างนี้, หวังแต่เรื่องตัวกู - ของกูทั้งนั้น จะเหลือมรดกทิ้งไว้ให้ลูกหลานของกูเท่านั้น ไม่เพื่อผู้อื่น ; กูตายไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ต้องเป็นของลูก ของหลาน ของกู ไม่มีเพื่อผู้อื่น ; นี่มันเป็นเรื่องที่กิเลสครอบงำมากเกินไป.
ไปดูภาพเขียนในตึก ที่ในวัดก็จะพบภาพ ภาพที่น่าสะดุดตาว่า ชีวิตมนุษย์เป็นฉาก ๆ ฉาก ๆ มานั้น รวมมี ๑๐ ฉากด้วยกัน. ฉากที่ ๘ นั้น หมดตัวเองเลย ว่างเลย ไม่มีตัวเอง ไม่มีตัวกูที่จะไปหาความสุข ความเอร็ดอร่อยอะไรที่ไหนแล้ว, เป็นภาพความว่าง กลมไปเลย. อีก ๒ ภาพ ก็คือ momentum - เป็นแรงงานสติปัญญาเมตตาเหลืออยู่ เป็นภาพสุดท้าย คือเที่ยวแจกของ เที่ยวส่องตะเกียง เที่ยวแจกของให้ผู้อื่น เที่ยวส่องตะเกียงผู้อื่น เป็นภาพสุดท้ายของชีวิต.
นี่ ชีวิตที่สมบูรณ์ ต้องจบลงด้วยคำว่า ผู้อื่น. นี้เรื่องอนามัย เรื่องอะไรก็ตาม เรื่องธรรมะ เรื่องอะไรต้องเป็นความมุ่งหมายที่เห็นแก่ตัว ; ถ้ายังคงเห็นแก่ตัวแล้ว มันไปไม่รอด, มันเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ; มันก็ถึงขนาดที่ว่า ชักชวนให้ทำส้วมใช้เองก็ยังไม่เอา เพราะความเห็นแก่ตัว. แต่ถ้าเห็นแก่ผู้อื่นแล้วจะ ทำส้วมสาธารณะก็ได้ แล้วตัวเองก็ใช้ด้วยได้.
นี่ความมุ่งหมายของธรรมะ ของกฎของธรรมชาติเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องอนามัยทางจิตอย่างสูงสุด. ผู้ที่เจริญอนามัยทางจิต ย่อมเจริญอนามัยทางกายด้วย เพราะมันเป็นของเล็กน้อยแฝงอยู่ในเรื่องของจิต. ทีนี้ก็เกิดภาวะที่ไม่ต้องทนอะไรเลย สมตามความหมายของคำว่า อนามัยอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ; ถูกต้องนั้นก็ถูกต้องละ, แต่ก็สมบูรณ์ด้วย คือถูกต้องหมด. นี่เราจะใช้ได้แค่ไหน ต้องใช้วิจารณญาณดู ; อะไรเป็นเบื้องต้น อะไรเป็นเรื่องริเริ่มลงมือก็ทำไป ; แต่ทำให้ถูกความหมายเถิด มันจะเป็นเรื่องเดียวกันหมด.
พระพุทธเจ้าท่านว่า ทำบุญสักบาทหนึ่งหรือสักสตางค์หนึ่ง มันก็ได้ผล ได้ผลเหมือนกับทำบุญสักล้านหนึ่ง ๒ - ๓ ล้าน, ขอให้มีเจตนาทำลายความเห็นแก่ตัวเถอะ ให้เขาเป็นเศรษฐีทำบุญเป็นล้าน ๆ , ขอให้ทำลายความเห็นแก่ตัวเถิด ถ้าเขาเป็นชาวบ้าน ทำบุญเพียง ๑๐ สตางค์ ก็เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวเถิด แล้วก็ได้บุญเท่ากัน.
นี่เรื่องต่าง ๆ มันทำได้อย่างนี้ รวมทั้งเรื่องอนามัย ; จึงหวังว่า ท่านทั้งหลายผู้เป็นหัวหน้าท้องถิ่นของกิ่งพัฒนาอนามัยนี้ จะได้ เอาคำตอบของอาตมาไปคิดไปนึกดู ; มันจะช่วยให้เกิดกำลังใจในการทำงานต่อไป, แล้วมันจะเป็นการพัฒนาจิตใจของท่านด้วย, ให้มีอนามัยในทางจิตดีด้วย, มันก็หมดเรื่องเท่านั้นเอง : เกิดมาทีก็หมดเท่านี้เอง. จิตเมื่อมีอนามัยดี มีธรรมะแล้ว มันก็จะไม่มีตัวตน ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู. อย่าให้ลิงล้างหู ด่าใส่หน้า ปัญหามันก็หมด, อยากรู้เรื่องลิงล้างหูละก็ ไปดูภาพที่ในตึกโรงมหรสพทางวิญญาณ.
ขอยืนยันในที่สุดจบนี้ว่า ธรรมะจำเป็นในทุกกรณี, แม้ในกรณีของการพัฒนาอนามัย. โลกกำลังอยู่ในฐานะที่ว่า ต้องรบกันไปพลาง แลกเปลี่ยนธรรมะกันไปพลาง ให้ไปอ่านเรื่องนี้ดู เถอะตามหนังสือที่แจกไป.
ขอยุติคำบรรยายวันนี้ ด้วยการกล่าวคำสวัสดีแก่ท่านทั้งหลายทุกคน.
Reference: http://www.buddhadasa.org