"อาณาจักรของเทคโนโลยี กับอาณาจักรของศาสนา หรือศาสนจักรอยู่คนละส่วนกัน แต่ทั้งสองส่วนมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เดิมพระศาสนจักรมีอิทธิพลกับชีวิตมนุษย์มาก แต่ตอนหลังถูกไล่ที่โดยเทคโนโลยีและวิถีชีวิตสมัยใหม่“ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิช เปิดประเด็นการเสวนาเรื่อง “พุทธศาสนากับเทคโนโลยีจะอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้องสมดุลได้อย่างไร” ณ ห้องประชุมจุมภฏ–พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก–รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๕
จากนั้น ดร.สมเกียรติ ก็ฟันธงว่า ศาสนากับเทคโนโลยีไปด้วยกันได้ยาก เพราะมันมีความขัดแย้งกันอยู่ลึก ๆ ศาสนาต้องการมุ่งไปสู่การพัฒนาตัวเองของมนุษย์ ขณะที่เทคโนโลยีส่วนใหญ่ออกแบบมาด้วยจุดประสงค์ ๒ อย่าง คือ เพื่อการสงคราม และแรงผลักดันในเชิงพาณิชย์ ฉะนั้นคำถามสำคัญในยุคที่เทคโนโลยีเป็นใหญ่ในสังคม คือ ศาสนาจะมีบทบาทช่วยให้สังคมกลับเข้าสู่สมดุลใหม่ได้อย่างไร
คุณสุทธิชัย หยุ่น ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามว่า หากมองเทคโนโลยีในแง่ดีบ้าง มันจะช่วยเรื่องศาสนาได้หรือเปล่า เช่น การสอนศาสนาผ่านอินเตอร์เน็ต
“มันเป็นเพียงการรับรู้ข้อมูล ซึ่งผมยังไม่คิดว่าจะสามารถเข้าถึงจิตใจ” ดร.สมเกียรติ ยืนยัน “พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เน้นการพัฒนาตนเอง พึ่งตนเอง ฝึกตนเอง เทคโนโลยีมีแนวโน้มไปอีกด้านหนึ่ง คือเอื้ออำนวยความสะดวกในเชิงกายภาพ ซึ่งอาจทำให้ยึดติดอยู่กับวัตถุ ขาดวัตถุแล้วเป็นทุกข์ง่ายขึ้น ขณะที่ศาสนาเน้นให้มนุษย์กลับไปหารากฐานของตัวเอง และพัฒนาจิตใจมากกว่าเรื่องกายภาพหรือการอำนวยความสะดวก”
ด้านพระสันติกโร ให้ความเห็นว่าเทคโนโลยีในพุทธศาสนา คือ “การภาวนา” ถ้าพุทธบริษัทรู้จักใช้ก็จะขยายไปถึง ศีล สมาธิ และปัญญา “แต่เดี๋ยวนี้พระไม่อยากศึกษาเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา โยมอยากศึกษาอะไร พระก็อยากศึกษาอันนั้น จึงคล้อยไปตามเทคโนโลยีที่อำนาจทหาร ทุนนิยม และกามารมณ์ผลักดัน”
ส่วนความหวังที่จะให้เทคโนโลยีแห่งโลกปัจจุบัน อย่างเช่น อินเตอร์เน็ต เป็นเครื่องมือในการสอนศาสนานั้น ท่านถือว่าเป็นการเปิดประตูขั้นแรกเท่านั้น แต่คนที่สนใจธรรมะหากท่องจากหนังสืออย่างเดียว ไม่ออกไปไหน อาจท่องจนเมา เมาธรรมะไม่ใช่รู้ธรรมะ”
ต่อคำถามถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีอย่างสื่อทีวีที่สามารถนำข่าวสารความรู้ไปถึงเด็ก ๆ ในถิ่นทุรกันดาร พระสันติกโรตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งแรกที่ต้องถามคือ เด็กเหล่านั้นจำเป็นต้องฟังผู้รู้จากแดนไกลหรือเปล่า ท่านเชื่อว่าในหมู่บ้านที่เด็กเหล่านั้นอยู่ จะมีบุคคลที่เหมาะสม ที่จะพูดคุยสั่งสอนเด็กเหล่านั้น “และอีกด้านหนึ่ง แม้จะมีสิ่งดี ๆ เผยแพร่ ผ่านสื่อแบบดี ๆ เด็กเหล่านั้นจะดูหรือเปล่า เราไม่มีอำนาจจะให้เขาดู บางคนอาจคิดแปลงธรรมะให้เป็นเพลง เป็นหนังที่เด็กชอบ ก็ถามว่าเด็กดูทำไม ดูเพื่อเอาสีสัน ดูเอาความสวยความหล่อของพรีเซ็นเตอร์ ไม่ได้ดูเพื่อเอาธรรมะ ฉะนั้นเราไม่แน่ใจ คิดว่าเป็นความเชื่อมากกว่าความจริง”
ผู้ดำเนินรายการ ถามซ้ำว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวกับ Information technology สามารถนำศาสนาผ่านสื่อไปถึงคนจำนวนมาก น่าจะยิ่งดีมิใช่หรือ
“พุทธศาสนามองอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย การมีข้อมูลธรรมะดีเป็นปัจจัยหนึ่ง แล้วใช้สื่อให้แพร่หลายก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยกว่าจะรู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร มันขึ้นกับบริบทของสังคมด้วย ตอบอย่างเบ็ดเสร็จไม่ได้
“แต่ถ้าดูเหตุปัจจัยทั้งหลาย คงยากที่จะได้ผล และคิดว่าไม่คุ้ม เนื่องจากเทคโนโลยีมีราคาแพง การทำที่สงบในทุกหมู่บ้าน คุ้มค่ากว่าและถูกกว่า”
หมอประเวศ วะสี กล่าวถึงเทคโนโลยีว่า โดยตัวมันเป็นกลาง ๆ สุดแต่คนจะนำไปใช้ เป็นประโยชน์ก็มี เป็นโทษก็มี อย่างเรื่องยีน ตอนนี้รู้หมดทั้งสามพันล้านตัวอักษรที่อยู่ใน DNA ของเรา มันมีรหัสอยู่ในนั้นสามพันล้านตัว ซึ่งตอนนี้มันรู้หมดแล้ว ก็จะมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ
“ผมอยากดึงท่านไปเรื่องประเด็นใหญ่ ว่าเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดสังคม แล้วมันมีลักษณะอย่างไร.. ตอนที่เทคโนโลยียังเป็นเรื่องการล่าสัตว์ สังคมเป็นสังคมที่อยู่กันเป็นกลุ่ม เมื่อพบเทคโนโลยีเกษตร สังคมก็อยู่กันแบบหมู่บ้าน พอพบเทคโนโลยีอุตสาหกรรมก็เกิดเมืองโตขึ้น มาถึงตอนนี้เป็นยุคเทคโนโลยี Information สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงคือ มีเทคโนโลยีที่แพงมาก มันจึงเชื่อมกับการเกิดทุนนิยม ซึ่งทำให้คนแตกต่างกันมาก
“คนที่รวยที่สุด ๓๐๐ คนในโลก มีทรัพย์สมบัติมากกว่าคน ๒,๐๐๐ ล้านคน และ ๒๐๐ คน อยู่ในอเมริกา”
“พอความต่างเกิดขึ้น คนก็ขัดแย้งกัน ความรุนแรงและอะไรอื่น ๆ ก็เกิดขึ้น”
หมอประเวศ ชี้ทางออกว่าเราต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี ต้องเข้าใจว่าสังคมในอุดมคติของพุทธศาสนา อยากเห็นสังคมที่มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ดี ที่ท่านพุทธทาสภิกขุใช้คำว่า “ธรรมิกสังคมนิยม” คือ การอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน เป็นปัจเจกชนสุดโต่ง ทอดทิ้งกัน แต่ให้เป็นการคำนึงถึงกัน
“เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีกับพุทธ ผมคิดว่าเราต้องศึกษาพุทธธรรมให้ดี และพยายามสร้างสังคมที่ดี ไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีทางควบคุมผลร้ายของเทคโนโลยีที่เชื่อมกับทุนนิยม นี่เป็นจุดสำคัญที่คนไทยเข้าใจกันน้อยในทุกวันนี้”
ต่อคำถามที่ตั้งเป็นหัวข้อเสวนา “พุทธศาสนากับเทคโนโลยี จะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้สอดคล้องและสมดุล” หมอประเวศชี้ว่าต้องอาศัยพุทธเทคโนโลยี คือการเจริญสติ ฟังดูเหมือนยาก แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ยาก
“มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวที่สามารถเห็นตัวเอง เห็นความคิดของตัวเองได้ สติแปลว่าเรารู้กายเราเป็นอย่างไร หายใจเข้า หายใจออก เดินก็รู้ ก้าวย่างต่าง ๆ ก็รู้ ความทุกข์สุขก็รู้ แล้วจะเจอความสุขที่ไม่เคยเจอมาก่อน และอีกอย่างหนึ่งที่ทำได้ง่ายและน่าทำมาก คือ การร่วมทุกข์ คนเดี๋ยวนี้มีความทุกข์เยอะ ความจน ความเจ็บ เป็นกำพร้า และอีกร้อยแปด ถ้าเราร่วมทุกข์ ความทุกข์ของเราจะน้อยลง”
วงเสวนาวันนั้นไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนตายตัวว่า พุทธศาสนากับเทคโนโลยีจะอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ อย่างไร ในช่วงท้ายของการเสวนา หมอประเวศยกพุทธพจน์ตอนหนึ่งขึ้นมากล่าว เป็นการทิ้งท้ายวงเสวนาที่สวยงาม
“‘การชมหรือติเตียนไม่ใช่ธรรมะ’ ธรรมะคือการรู้ว่าอะไร ทำให้เกิดอะไร คือความเป็นเหตุเป็นผล ถ้าชมหรือติเตียน มันตายตัว เป็นการมองอย่างสรุป”.
นำมาจาก web site http://skyd.org/html/sekhi/53/Bud-Tech.html เสขิยธรรม