-
เห็นว่าน่าสนใจดีคับ เลยเอามาให้อ่าน
มาเริ่มกันที่ ESR
หากพูดถึงฟรีซอฟต์แวร์หลายคนคงนึกถึง ดร. ริชาร์ด สตอลแมน (RMS) ผู้เริ่มความคิดเรื่องซอฟต์แวร์เสรี แต่หากจะพูดถึงคำว่าโอเพ่นซอร์ส จะลืมบุรุษผู้นี้ไปไม่ได้ "อีริค สตีเว่น เรย์มอนด์" เขาเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มคอนเซปต์ฟรีซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์เมื่อปี 1998 โดยใช้ Debian Free Software Guideline เขียนโดย บรูซ พีเรนส์ (Bruce Perens) มาเป็นต้นแบบและนิยามมันในชื่อ "โอเพ่นซอร์ส" โดยพื้นฐานทั้งโอเพ่นซอร์ส และ ฟรีซอฟต์แวร์ มีจุดม่งหมายเหมือนกันมาก แต่ ESR เลือกใช้คำว่าโอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์ เพราะอยากให้คนเข้าใจความหมายได้ง่ายกว่าฟรีซอฟต์แวร์ซึ่งมักคิดกันไปว่าคือ "ซอฟต์แวร์แจกฟรี" มากกว่า "ซอฟต์แวร์เสรี"
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทั้ง RMS และ ESR มีอยู่เหมือนๆ กันก็คือ ทั้งคู่เป็น "แฮ็กเกอร์" !
"กำเนิดแฮ็กเกอร์"
อาจเป็นเรื่องแปลกหากจะบอกใครๆ ว่า ทั้งอินเทอร์เน็ต ระบบยูนิกซ์ เครือข่ายยูสเน็ต เว็บ และฟรีซอฟต์แวร์ ต่างเกิดขึ้นมาได้เพราะแฮ็กเกอร์ทั้งสิ้น ในความหมายที่ถูกต้อง แฮ็กเกอร์หมายถึงบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญสุดๆ และไม่ได้จำกัดเฉพาะซอฟต์แวร์หรือคอมพิวเตอร์ ที่จริงเราจะพบแฮ็กเกอร์จำนวนมากในสังคม รวมไปถึงพวกที่ทำงานศิลปะ ดนตรี อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ แฮ็กเกอร์ชอบที่จะแก้ปัญหา ทำงานอย่างสุดความสามารถ และมีความสุขกับการแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ และคนพวกนี้มีความคิดสร้างสรรค์ไม่น้อยไปกว่าศิลปินเลย ส่วนบรรดาผู้ที่มักเรียกตัวเองว่าแฮ็กเกอร์เพราะชอบเจาะระบบคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ทำงานใต้ดิน พวกนี้เรียกกันว่า "แครกเกอร์" (Cracker) .. คนส่วนใหญ่มักใช้คำว่าแฮ็กเกอร์เพื่อหมายถึงแครกเกอร์ (โดยเฉพาะสื่อ) ทั้งที่ทั้งสองคำนั้นมีความหมายต่างกันสุดขั้วเลย .. สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ
"แฮ็กเกอร์เป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในขณะที่แครกเกอร์คือผู้ทำลาย" ..
คำว่าแฮ็กเกอร์เกิดขึ้นในปีไหนและใครเป็นคนเริ่มไม่มีประวัติแน่นอน แต่ตามที่เข้าใจกัน แฮ็กเกอร์เริ่มก่อตัวเป็นกลุ่มกันในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 โดยมีเอ็มไอทีเป็นศูนย์กลาง กิจกรรมของแฮ็กเกอร์มีตั้งแต่ เขียนซอฟต์แวร์แจก เขียนเรื่องตลก ทำแผนที่ช่องใต้หลังคาเป็นทางไปยังห้องต่างๆ งานดนตรีของศิลปินบางคนก็ถือเป็นการ "แฮ็ก" มากกว่าการแต่งเพลง ว่ากันว่า โยฮัน เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) นักแต่งเพลงชื่อดัง เป็นคนแรกๆ ที่ "แฮ็ก" โน๊ตดนตรี ตลอดชีวิตบาคประพันธ์เพลงคลาสสิคกว่า 1000 เพลง และมีบางเพลงของบาคสามารถเล่นจากโน๊ตตัวสุดท้ายของย้อนกลับมาตัวแรกได้ไพเราะไม่แพ้การเล่นแบบปกติ (ไม่รู้ว่าตั้งใจทำอย่างนั้นเปล่า ? คนฟังอาจหูเพี้ยนไปเองก็ได้ Razz) ที่ยกตัวอย่างนี้ขึ้นมาก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าแฮ็กเกอร์ไม่ได้มีเฉพาะในโลกคอมพิวเตอร์ และไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับระบบความปลอดภัย หรือเครือข่ายเลย .. อย่างไรก็ตามที่คนมักเข้าใจว่าแฮ็กเกอร์ต้องเป็นเซียนยูนิกซ์ เชี่ยวเรื่องเครือข่ายก็เพราะในสมัยทศวรรษ 1980 นักข่าวเริ่มได้ยินคำนี้หนาหูจากกิจกรรมการแฮกระบบความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ในเอ็มไอที ก็เลยกลายเป็นว่าแฮ็กเกอร์ในสายตาสื่อคือบรรดาวัยรุ่นที่ชอบเจาะระบบความปลอดภัย และนั่นคือนิยามเดียวที่สื่อมอบให้กับคนทั้งโลก ทั้งที่แฮ็กเกอร์ และการแฮ็ก มีอะไรมากกว่านั้น
"อยากจะเป็นแฮ็กเกอร์ ?"
การจะเป็นแฮ็กเกอร์จะว่าง่ายก็ง่ายจะว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับทัศนคติและนิสัยของคนๆ นั้น หลายคนเป็นแฮ็กเกอร์โดยธรรมชาติ เช่น ริชาร์ด สตอลแมน (FSF), อีริค เรย์มอนด์ (OSI), ลินุส ทอร์วาลด์ (Linux Kernel), ลาร์รี่ วอลล์ (Perl), พอล วิกซี่ (Bind/ISC) ในขณะที่หลายคนต้องฝึกฝนจนกว่าจะได้รับการยอมรับกลุ่มคนในวัฒนธรรมของแฮ็กเกอร์ แฮ็กเกอร์เชื่อในเสรีภาพเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมฟรีซอฟต์แวร์และโอเพ่นซอร์สถึงเกิดขึ้นมาได้ หากจะเป็นแฮ็กเกอร์ได้ก็ต้องมีทัศนคติในแบบเดียวกัน และต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่ามีทัศนคติแบบนั้นจริงๆ .. ฟังๆ ดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมในแบบฉบับของตัวเอง บางคนแซวว่าเป็นลัทธิ หรือเป็นศาสนาไปเลยก็มี ในส่วนนี้เราจะว่ากันด้วยเรื่องของทัศนคติกันก่อน .. ESR เขียนเอาไว้ว่า ..
1. โลกเต็มไปด้วยปัญหาที่น่าสนใจรอการแก้ไข
การเป็นแฮ็กเกอร์เป็นเรื่องสนุก แต่เป็นความสนุกที่ต้องทุ่มเทสุดๆ เหมือนกัน การจะทุ่มเทสุดๆ ได้ก็ต้องมีแรงจูงใจ มีแรงบันดาลใจ เช่นเดียวกับนักกีฬาที่ต้องการพาตัวเองไปข้ามขีดจำกัดทางกายภาพ แฮ็กเกอร์จะสนุกและตื่นเต้นกับการแก้ปัญหาเพื่อฝึกฝนทักษะและสติปัญญาของตัวเอง เพื่อขยายขีดจำกัดทางสติปัญญาให้กว้างขึ้น .. เรื่องนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับเงินทอง หรือชื่อเสียง ไม่มีแฮ็กเกอร์คนไหนทำเพื่อสิ่งเหล่านี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าแฮ็กเกอร์จะต้องเป็นพวกไส้แห้ง ผมว่าคล้ายกับนักเขียนนะ พวกไส้แห้งก็มี พวกที่ได้ทั้งกล่องได้ทั้งเงินทองก็มี และนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะเขามีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ และใช้มันอย่างสุดขีด .. จะต่างกันก็ตรงนักเขียนเป็นอาชีพที่สูงส่ง (ในต่างประเทศ) ในขณะที่คนมักติดว่าแฮ็กเกอร์เป็นพวกใต้ดิน ..
2. ปัญหาไม่ควรได้รับการแก้ไขซ้ำสอง
ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งมีค่าและมีจำกัด จึงไม่ควรเสียเปล่าไปกับปัญหาที่ได้รับการแก้ไขไปแล้ว การจะเป็นแฮ็กเกอร์ก็ต้องเชื่อมั่นในสติปัญญาและความทุ่มเทต่องานของแฮ็กเกอร์คนอื่นๆ ด้วย ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องทำงานซ้ำซ้อน หากจะทำก็ควรเป็นการพัฒนาให้ดีขึ้น
3. ความเบื่อหน่าย งานซ้ำซาก เป็นสิ่งชั่วร้าย
แฮ็กเกอร์ไม่ควรเบื่อหน่ายกับการทำงานซ้ำๆ ซากๆ หรือไร้สาระ เพราะถ้ามันเกิดขึ้น แสดงว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข และถ้ายังไม่แก้ ทุกคนก็ต้องทำงานซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างเดิม งานน่าเบื่อซ้ำซากจึงเป็นโอกาสที่จะได้แก้ปัญหา ทำให้มันอัตโนมัติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากทำได้ ผลงานที่ออกมาก็จะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ด้วย
4. เสรีภาพคือสิ่งที่ดี
โดยธรรมชาติ แฮ็กเกอร์เป็นพวกต่อต้านผู้มีอิทธิพล หากใครสามารถสั่งให้เราทำหรือหยุดทำอะไรบางอย่างได้ ก็หมายความว่ากรอบความคิดเราถูกจำกัดไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าแฮ็กเกอร์เป็นพวกต่อต้านอำนาจทุกประเภทและทำทุกอย่างอย่างเสรี แฮ็กเกอร์ยินดีจะอยู่ในกรอบวัฒนธรรมและสังคม ตราบใดที่มันไม่ส่งผลต่ออิสระทางความคิดสร้างสรรค์
5. ทัศนคติอย่างเดียวไม่พอ
อย่างที่บอกตอนแรกว่าจะเป็นแฮ็กเกอร์ ต้องมีทัศนคติแบบแฮ็กเกอร์ แต่เพียงทัศนคติไม่ได้ทำให้เป็นแฮ็กเกอร์ได้ แฮ็กเกอร์ ต้องมีสติปัญญาที่ดี มีการฝึกฝน ทุ่มเท และทำงานเต็มที่ แฮ็กเกอร์ชื่นชมความสามารถ การมีความสามารถในสิ่งที่น้อยคนมีถือเป็นเรื่องดี แต่ความสามารถทางด้านจิตใจ สมาธิ ฝีมือเชิงช่าง ถือเป็นเรื่องสุดยอด