-
http://www.thairath.co.th/media/cont.../300/21671.jpg
เผยใช้ต้นทุนต่ำว่าสื่ออื่น แต่เข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุม มั่นใจเกิดประสิทธิภาพพร้อมความคุ้มค่า ชี้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมนิยมสื่อเทคโนโลยีมากขึ้น...
นายปราโมทย์ สุดจิตพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญในการทำตลาด คือ ต้นทุนทางการตลาด โดยจากการเปรียบเทียบการใช้งบประมาณผ่านสื่อประเภทต่างๆ พบว่า สื่อดิจิตอลใช้ต้นทุนต่ำสุด คิดเป็นเพียง 1% เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อโรงภาพยนตร์ที่ใช้งบประมาณสูงกว่า 5 เท่า สื่อโฆษณากลางแจ้ง 6 เท่า สื่อวิทยุ 7 เท่า สื่อหนังสือพิมพ์ 16 เท่า และสื่อโทรทัศน์ 50 เท่า ขณะที่ จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตของประเทศไทยในปัจจุบันมีถึง 13 ล้านคน คิดเป็น 20% จากจำนวนประชากรทั้งหมด เอเชียซอฟท์จึงเลือกใช้กลยุทธ์การทำตลาดแบบดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง (Digital Marketing) เนื่องจาก พฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้บริโภคในปัจจุบัน เลือกบริโภคสื่อผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชียซอฟท์ฯ กล่าวต่อว่า ในฐานะผู้ให้บริการเกมออนไลน์ โดยปัจจุบัน ดิจิตอลคอนเทนต์มีมูลค่าทางการตลาดสูงมาก เนื่องจากเนื้อหาของเกมออนไลน์สามารถสร้างประสิทธิภาพทางตลาดได้ด้วยต้นทุนต่ำ ผ่านการจดจำของผู้บริโภค รวมถึง การจัดกิจกรรมทางการตลาดและโปรโมชันที่หลากหลาย ทำให้เอเชียซอฟท์มีฐานลูกค้าทั่วประเทศถึง 12 ล้านคน ช่วยให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตมีส่วนร่วมในตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้น ดังนั้น การทำตลาดแบบดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งจึงถือเป็นกลยุทธ์ เพื่อมอบประโยชน์แก่ผู้บริโภคและเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรง
ด้าน นางสาววรรณสิกา เชื้อชาติไชย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บมจ.เอเชียซอฟท์ กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ วางกลยุทธ์การตลาดแบบ Customer Centric เน้นวิเคราะห์และตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรอบด้าน โดยแบ่งฐานลูกค้าออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กนักเรียน วัยรุ่น นักศึกษา และวัยทำงาน ด้วยไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างบนโลกออนไลน์ การทำตลาดจึงจำเป็นต้องผสานผ่านเครื่องมือการตลาดในสื่อแต่ละประเภท เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด โดยในช่วงที่ผ่านมา เอเชียซอฟท์เน้นทำการตลาดแบบออนไลน์ผ่านสื่อภายในเกมและทำตลาดเชิงดิจิตอลมาร์เกตติ้งมากขึ้น
ส่วน นายเอียน เฟนวิคก์ ศาสตาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ กล่าวว่า การทำการตลาดแบบดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งถือเป็นการปฏิวัติการทำตลาดรูปแบบเดิม เนื่องจาก สามารถรองรับและครอบคลุมไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในปัจจุบัน ด้วยกลยุทธ 4Ps คือ 1.Permission การเข้าสู่การยอมรับของผู้บริโภคเพื่อเข้าสู่สื่อดิจิตอล 2.Participation การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคต่อเนื้อหาสินค้าที่ผู้ผลิตต้องการนำเสนอ 3.Profile ลูกค้าและเจ้าของผลิตภัณฑ์สามารถรวบรวมข้อมูลระหว่างกันและกันได้ และ 4.Personalization ความเป็นส่วนบุคคลที่ขยายไปสู่การทำตลาดแบบเฉพาะเจาะจงหรือกลุ่มสังคมออนไลน์
ศาสตาจารย์ประจำภาคการตลาด สถาบันบริหารธุรกิจศศินทร์ กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศ การทำตลาดแบบดิจิตอลมาร์เกตติ้งมีอัตราการเติบโตถึง 10-15% ส่วนอัตราการเติบโตในประเทศไทยนั้น เชื่อว่า อีก 3-4 ปีข้างหน้า จะมีการเติบโตเช่นเดียวกับต่างประเทศ และในอีก 4- 5 ปีข้างหน้า การทำตลาดรูปแบบดังกล่าวอาจกลายเป็นกระแสหลัก เนื่องจาก สื่อดิจิตอลสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกแก่นักการตลาด นอกจากการนำเสนอรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการยังสามารถทราบข้อมูลผู้บริโภค ไลฟ์สไตล์ หรือความชอบ ด้วยข้อมูลที่สามารถติดตามได้
ข่าวจาก : ไทยรัฐ
วันที่ : 24 กรกฎาคม 2552 เวลา 17:46 น.