-
ทำความรู้จักชมรมธุรกิจโฮสติ้งสะพาน เชื่อมเว็บไซต์กับอินเทอร์เน็ต [7 มิ.ย. 51 - 10:16]
เมื่อโฮสติ้งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้บนโลกอินเทอร์เน็ต แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจโฮสติ้ง ตั้งแต่จำนวนผู้ประกอบการ การแข่งขัน ไปจนถึงการเลือกใช้บริการ
ดังนั้น เพื่อให้ผู้อ่าน IT Exclusive ได้รู้จักธุรกิจโฮสติ้งในประเทศไทยมากขึ้น เราจึงจะพาไปพูดคุยกับ “ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ” ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง ที่นอกจากจะเล่าให้ฟังถึงธุรกิจโฮสติ้งในประเทศไทยแล้ว ยังจะสะท้อนปัญหาและเรื่องราวที่น่าสนใจในแวดวงเว็บไซต์และอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย
ต่อไปนี้ คือบทสัมภาษณ์แบบ “คำต่อคำ” ของประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง ที่น่าสนใจและน่าติดตามไม่น้อย ผู้สนใจเชิญอ่านได้ ณ บัดนี้...
IT Exclusive: อยากทราบที่มาที่ไปของชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง?
ภูมิจิต: จำไม่ได้ว่า ก่อตั้งมากี่ปีแล้ว ถ้าอยากจะทราบต้องไปเช็คจากโดเมนชื่อว่า ไทยโฮสต์เค้าท์ดอทคอมว่า จดทะเบียนมาตั้งแต่ปีไหน หมายความว่า ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีนั้น โดยมารวมตัวกันเพราะว่า เห็นปัญหาของลูกค้าที่มักถูกโฮสต์อื่นๆ หลอกลวง หรือ บางที ไม่ใช่ถูกหลอกลวง แต่เพราะว่าคนทำธุรกิจโฮสต์ไม่ค่อยเข้าใจธุรกิจ ทำๆ ไปอยู่ไม่ได้ก็เลิก พอเลิกก็ลอยแพลูกค้า ส่วนลูกค้าก็ทำอะไรไม่เป็น ย้ายไม่เป็น โดเมนอยู่ไหนไม่รู้ เป็นต้น
ถ้าเป็นแบบนี้ ลูกค้าจะมีปัญหาตลอด คือ การทำงานที่ลูกค้ามีประสบการณ์เลวร้ายมาก่อนเป็นการทำงานที่ยากมากๆ เพราะลูกค้าจะระแวงทุกอย่าง ดังนั้น จึงมาร่วมตัวกันเป็นชมรมฯ และเปิดเว็บบอร์ดในระยะแรกๆ และทุกวันนี้ ก็ยังเป็นเว็บบอร์ดอยู่ เพราะว่า เป็นสไตล์คนไทยที่ชอบเว็บบอร์ด
ทุกคนเข้ามา เพราะเราอยากจะให้ความรู้ โดยสร้างบรรยากาศของเว็บบอร์ดว่า มาเพื่อให้ข้อมูล ให้ความรู้ ถ้าเข้าไปสำรวจเนื้อหาในเว็บบอร์ดจะพบได้เลยว่า กระทู้ที่เกี่ยวข้องกับการต่อว่ากันมีน้อยมาก โดยจะเป็นการบอกและช่วยกัน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มโฮสติ้งจะมีหลายแบบ ทั้งพวกที่เป็นตู้ ฝากเครื่อง โดยพวกที่เช่าตู้ คือ เช่าตู้เลย ส่วนฝากเครื่อง คือ เอาเซิร์ฟเวอร์ไปฝากในแต่ละตู้ และแบ่งซอยเป็นโฮสต์ รวมไปถึงยังมีรีเซลเลอร์ของโฮสติ้งอยู่ด้วยกัน โดยแต่ละอย่างแต่ละส่วนจะมีความจุกจิกในตัว
พอมีคนใหม่เข้ามาจะมีการถาม หรือ ขอความช่วยเหลือ โดยจะพยายามแนะนำกัน ใครรู้ตรงไหนช่วยตรงนั้น โดยทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้ คือ ใครรู้อะไรคนนั้นเป็นคนตอบ ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นชมรมฯ ที่กีดกันทางการค้า หมายความว่า ไม่ได้มาเกทับกันว่า รายนั้น ดี หรือ รายนี้ ไม่ดี ไม่ใช่ ทุกคนจะช่วยกัน โดยลูกค้าคนไหนมีปัญหาอะไรจะพยายามช่วย
สมมุติว่า ลูกค้าโดเมนไปจดทะเบียนผ่านรีเซลเลอร์ที่เลิกกิจการไปแล้ว แต่หลังจากนั้น โดเมนถูกลอยแพไม่รู้จะทำอย่างไร หรือ ควรจะทำอย่างไรต่อไป ดังนั้น บางทีจะมีการทำแบบฟอร์มเป็นจดหมาย ให้ก๊อปปี้และส่งถึงรีจิสต้าเลย และเมื่อได้รับคำตอบมาอย่างไรให้เอามาโพสต์อ่านกัน และช่วยกัน โดยตรงนี้ คือ สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้
IT Exclusive: เป็นมาอย่างไรถึงมารับตำแหน่งประธานชมรมฯ?
ภูมิจิต: สาเหตุนั้น เพราะสมาชิกเห็นว่า อยู่มานาน ค่อนข้างเปิดเผยและเปิดตัวว่า ทำงานด้านนี้ มาตลอด รวมทั้งอาจจะเห็นว่า เป็นกรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย รู้จักพี่ๆ ผู้ใหญ่เยอะ ทำให้น่าจะติดต่อ แนะนำและประสานงานอะไรต่างๆ ได้
IT Exclusive: นอกจากงานตรงนี้ ยังเห็นทำงานด้านอื่นๆ อีก อยากทราบว่า ขณะนี้ ทำอะไรอยู่บ้างและแบ่งเวลาอย่างไร?
ภูมิจิต: จริงๆ เริ่มต้นเลยตอนเรียนจบกลับมา ที่จริงไม่ได้เรียนทางด้านนี้ เคยใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรกตอนเรียนโทอยู่อเมริกา โดยใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียนและค้นข้อมูลแล้วถูกใจมาก โดยตอนนั้น ที่มหาวิทยาลัยมีระบบให้ล็อกอินจากบ้านเข้าไปที่มหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ต้องไปเข้าคิวรอใช้คอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์ที่โน้นถูก ดังนั้น จึงลองทำ ทำไปเองก็ชอบ
ในขณะนั้น เน้นใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการค้นหาข้อมูล จนกลับมาถึงเมืองไทยพอดีเป็นคนชอบลองของจึงไปเจอพี่ที่รายการไอที 105.5 เมื่อประมาณปี 1997 โดยเจอกันในอินเทอร์เน็ตได้ถูกชักชวนให้ทำรายการจึงไปอยู่ช่วยกัน 4 เดือน ทำทุกวันขณะนั้น เป็นอินเทอร์เน็ตในไทยยุคแรกๆ ที่ชั่วโมงอินเทอร์เน็ตชั่วโมงละ 40 บาท หลังจากนั้น ก็หลุดเข้ามาในวงการนี้ ตลอด
ต่อมามารู้จักกับลุงเปี๊ยกนกน้อยดอทคอม (คุณธีระพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์) และทราบว่า กำลังมีการจัดตั้งชมรมเว็บมาสเตอร์ ที่ต่อมาเป็นสมาคมผู้ดูแลเว็บฯ และลุงเปี๊ยกเห็นว่า เราสนใจเรื่องพวกนี้ เลยชวนเข้ามาด้วย และเมื่อเข้ามาจึงรู้จักพี่ๆ ทุกคน และเข้ามาทำจริงๆ จังๆ
นอกจากนั้น ยังมีส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย คือ เอดิเตอร์ของดีมอส ที่ดูแลฐานข้อมูลของเว็บไซต์ทั้งโลก ในระบบเว็บไซต์ของโลก โดยรีจิสเตอร์มาตั้งแต่ปี 1999 หรือ 2000 จำไม่ได้ แต่นานมากแล้ว ที่ฐานข้อมูลตรงนี้ กลูเกิลก็ใช้ ยาฮูก็ใช้ เอ็มเอสเอ็นก็ใช้ พวกเสิร์ซเอนจิ้นทั้งหลายเอาดาต้าเบสพวกนี้ ไปใช้หมด เพราะถือว่า เป็นโอเพนซอร์ส และทำงานให้ลักษณะโอเพนซอร์ส
IT Exclusive: เมื่อครั้งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ได้เข้าไปมีบทบาทในหลายๆ ครั้ง?
ภูมิจิต: จริงๆ ตอนนั้น เกิดจากว่า พี่ป๋อง (คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี) มาบอกว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ กำลังจะเข้าสภาผู้แทนราษฎร โดยตอนนั้น ประมาณปี 2007 โดยบอกว่า ให้ลองคุยกับกรรมการรุ่นเก่า ที่เคยทำร่างคู่ขนานกันมาแล้วก็ขอเข้าพบกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟังว่า ทางสมาคมผู้ดูแลเว็บฯ มีความเห็นต่อเรื่องนี้ อย่างไร
ตอนนั้น สนช. สายสื่อเห็นว่า เรื่องนี้ สำคัญ โดยในวันที่เข้าสภาฯ มีการขอแปรญัตติและมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา โดยมีตัวแทนจากสมาคมผู้ดูแลเว็บฯ เป็น 1 ในกรรมาธิการด้วย
ก่อนหน้านี้ ต้องเรียกว่า โชคดีมาก เพราะจะมีกรรมการกลุ่มหนึ่งเป็นพี่ๆ พวกผู้ใหญ่ เช่น คุณวันฉัตร ผดุงรัตน์ และคุณกิตติวัฒน์ มโนสุทธิ ที่เป็นกรรมการชมรมฯ ด้วย มี ดร.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ และมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เอาร่าง พ.ร.บ. ที่มีอยู่มาดูกันว่า ตรงไหนที่รับไม่ได้ เพราะเกินกว่าวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพที่จะสามารถทำได้ในทันที หลังจากนั้น จึงทำเป็นร่างคู่ขนานขึ้นมา
ตรงนี้ มีอาจารย์สมเกียรติและอาจารย์ไพบูลย์ ช่วยกันขัดเกลา โดยพวกเราเสนอๆ กันเข้าไปก่อน สุดท้ายจึงมีฉบับคู่ขนาน ทำให้ในวันที่กฎหมายจะเข้าสภาฯ จึงสามารถยื่นร่างคู่ขนานทัน เนื่องจากเคยทำมาก่อนล่วงหน้าแล้ว ที่ถ้าหากไม่ได้ทำล่วงหน้ามาก็จะไม่มีร่างคู่ขนานในวันนั้น เพราะคงทำกันไม่ทัน
คราวนี้ พอทาง สนช. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการก็เริ่มทำงาน โดยทุกคนเข้าไปให้ความคิดเห็น เพราะเห็นว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่อง ซีเรียส คอขาดบาดตายกับพวกเรามาก ก็เข้าไปทำ อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ ในส่วนที่ไม่สันทัด หรือ คิดว่า ปฏิบัติได้ไม่มีการแย้ง เช่น เรื่องการแฮกที่ผิดกฎหมายก็เข้าใจ ไม่แย้งเลย ความจริงขอเพิ่มโทษด้วย
ยกตัวอย่างที่ในระยะแรกผู้ร่างกฎหมายมองว่า การแฮกมักจะเกิดจากเด็กซน จึงตั้งโทษไว้ต่ำ เช่น ปรับพันเดียว แต่ในความเห็นของพวกเรามองว่า เมื่อเซิร์ฟเวอร์ถูกลือออกไปว่า ถูกแฮก ความเสียหายเกิดขึ้นไปแล้ว พันเดียวไม่คุ้ม ดังนั้น ตั้งค่าปรับให้สูงขึ้นไปอีกเด็กจะได้ไม่เล่น ไม่กล้าทำ ตอนนั้น ดีเบตกันไปมา แต่สุดท้ายก็ได้
แต่อย่างบางเรื่องบทลงโทษที่สุดโต่งเกินไป เช่น การประหารชีวีต โดยอภิปรายกันถึงข้อดีข้อเสีย ก่อนสุดท้ายจะมาจบที่ว่า โทษสูงสุดของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ จำคุก 20 ปี โดยลดหย่อนลงมานิดหนึ่ง คือ ไม่ตายก็สามารถแก้ตัวได้ ชีวิตนี้ ที่พวกเราก็มองกันอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็ยังมีอยู่อีกว่า คนไอทีไม่รู้กฎหมาย นักกฎหมายไม่รู้จักไอที ศาลไม่เข้าใจไอที คือ ต่างคนต่างมีความแตกต่างไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน และเรื่องค่อนข้างซับซ้อนจนบางทีเหมือนเรื่องเพ้อฝันและอธิบายยาก เช่น ดีดอส คือ อะไร ยิงกันอย่างไรเครื่องร่วง เครื่องดับแล้วทำไม อันตรายอย่างไร ทำให้บางครั้งไม่เข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้น ในขณะที่พวกเราซีเรียส เพราะทำให้ระบบล่มเลย และเป็นปัญหาใหญ่
ตรงนี้ ต้องพยายามอธิบายให้ทางผู้ใช้กฎหมาย เช่น ศาลรู้ หรือ ตำรวจ บางคนยังไม่รู้แม้กระทั่งว่า เว็บไซต์กับเว็บบอร์ด แตกต่างกันอย่างไร และเรื่องเทคโนโลยีอื่นๆ อีก เช่น เว็บ 2.0 ที่ต่อไปคนอ่านสามารถป้อนคอนเทนท์เองได้ และต่อไปแนวโน้มจะเป็นแบบนี้ สุดท้ายคนอ่านจะช่วยกันแชร์คอนเทนท์ที่ตัวเองชอบ โดยคอนเทน์ในที่นี้ ไม่ใช้เนื้อหาที่หมายถึงตัวหนังสือ โดยอาจจะเป็นทั้งรูปภาพ ข้อความเพลง หรือ อะไรก็แล้วแต่ที่อยากจะแจกให้คนอื่น
ในอดีตตรงนี้ เจ้าของเว็บไซต์จะเป็นคนทำ พิมพ์ให้อ่าน เอารูปแปะให้คนอื่นเอาไปดู หรือ แต่งเพลงให้คนอืนฟัง ที่ต่อไปไม่ใช่แล้ว โดยต่อไปทุกคนจะมีสิทธิเท่าๆ กัน เว็บมาสเตอร์จึงไม่ใช่คนทำเว็บไวต์ แต่เป็นแค่คนดูแล ดูและให้อยู่ในระบบระเบียบเรียบร้อยแค่นั้น
IT Exclusive: ขณะนี้ การแข่งขันในธุรกิจโฮสติ้งเป็นอย่างไร?
ภูมิจิต: ปัจจุบันสมาชิกชมรมฯ มีกันอยู่ที่ 79 โฮสต์ โดยบางคนทำโคโลเคชั่นด้วยนอกเหนือจากโฮสติ้ง บางคนยังเป็นแค่โฮส บางคนเป็นรีเซลเลอร์ บางคนโฮสไม่ได้มีแค่ในเมืองไทย โดยมีเซิร์ฟเวอร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ คือ จะบอกยากมากว่า ใครมีโฮสต์กี่โฮสต์ มีเว็บกี่เว็บ ดังนั้น ใน 1 เครื่อง ถ้าอัดเว็บแน่นๆ ก็ประมาณ 200-300 เว็บ หรือ 500 เว็บ อัดเข้าไปได้ แต่ถ้าหลวมๆ สบายๆ ก็ไม่ถึง 100 เว็บ
ส่วนกรณีที่ไปอยู่เมืองนอกจะไม่รู้ว่า จะมีการออกแบบเฟสเป็นแบบไหน และอย่างไร ดังนั้น จึงบอกชัดๆ ไม่ได้ว่า รวมๆ แล้วมีคนทำธุรกิจนี้ จำนวนเท่าไร แต่บอกได้ว่า สมาชิกชมรมฯ ดูแลเว็บไวต์ในบ้านเราน่าจะเกินครึ่งหนึ่ง เว้นแต่เว็บไซต์ใหญ่ๆ ที่จะเอาไปฝากตู้เอง หรือ ต่อกับไอเอสพี (ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) เอง ที่แบบนี้ จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง
ในส่วนของโฮสติ้งก็ไม่ใช่แค่ทำอาชีพเป็นโฮสติ้ง แต่ทำเป็นแอดมินได้ด้วย เพราะดูแลเครื่อง ดังนั้น จะเป็นลักษณะของการดูแลอินฟราสตรักเจอร์ของเว็บไซต์มากกว่า
IT Exclusive: ธุรกิจต้องแข่งขันกับใคร และไอเอสพีใช่คู่แข่งหรือไม่?
ภูมิจิต: การแข่งขันสูง ไอเอสพีไม่ใช่คู่แข่ง โดยไอเอสพีจะเห็นธุรกิจโอสติ้งเป็นบายโปรดักส์ เพราะจริงๆ แล้วไอเอสพีต้องการเราไปเช่าตู้มากกว่า โดยจะเกื้อกูลกันมากกว่าที่จะมาแข่งขัน แต่ที่จะต้องแข่งขันจริงๆ คือ โฮสติ้งต่างชาติ และอีกกลุ่มหนึ่ง คือ คนที่อยากหัดเป็นโฮสติ้ง
คือ กลุ่มคนที่อยากหัดเป็นโฮสติ้งจะตั้งราคาไว้ต่ำมาก โดยบางคนที่บริหารจัดการต้นทุนได้ดีก็อยู่รอด แต่บางคนที่ทำไม่ได้ก้จะเลิกกิจการไป
IT Exclusive: ราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันและทำให้มีคนอยากเข้ามาในธุรกิจนี้ หรือไม่?
ภูมิจิต: ไม่ใช่ แต่เป็นความมันส์มากกว่า แต่คนที่ทำธุรกิจนี้ ได้จริงๆ จะต้องรักและชอบ เพราะจะต้องอยู่กับตรงนี้ ทั้งวันได้ เพราะจะต้องให้เครื่องวิ่งได้ไม่มีปัญหา ส่วนกรณีที่เครื่องล่ม เครื่องดาวน์จะต้องเข้าไปแก้ปัญหาได้ทันที ดังนั้น ถ้าคนไม่ชอบ 24 ชั่วโมงจะอยู่ไม่ได้
IT Exclusive: มีคำแนะนำอย่างไรกับผู้ที่ต้องการใช้บริการโฮสติ้ง?
ภูมิจิต: ถูก หรือ แพง บอกไม่ได้ว่า จะให้บริการได้ดีหรือไม่ โดยราคาไม่ใช่สิ่งสำคัญ สมมุติว่า ถ้าต้องการเลือกใช้โฮสติ้งจริงๆ ลองใช้วิธีว่า โทรถาม หรือ อีเมล์คุยหลายๆ รายก่อน รวมทั้งสอบถามจากเพื่อฝูงและทดลองใช้ด้วยตัวเอง
IT Exclusive: จุดสังเกตโฮสติ้งที่ดีจะต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง?
ภูมิจิต: บริการเป็นเรื่องสำคัญ ถามปุ๊บภายในเวลาที่กำหนดให้ เช่น 12 ชั่วโมง จะต้องตอบกลับ หรือ แย่ที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการแค่ขอข้อมูลเพื่อจะซื้อของแล้วไม่ตอบ ไม่ปกติแล้ว ดังนั้น เมื่อมีปัญหาจะตามตัวใคร ส่วนการจะต้องไปดูถึงที่ตั้งจำเป็นหรือไม่นั้น ไม่จำเป็น แต่ขอให้ติดต่อได้ด้วยวิธีใดก็ตาม
หลังจากนั้น ให้ลองคุย โดยลองสอบถามคำถามที่โทรฯ ไปก็น่าจะตอบได้ เช่น เครื่องเป็นแบบไหน มีลงอะไรอยู่บ้าง สามารถใช้อะไรได้ไหม ให้บริการอะไร เซอร์วิสแบบไหน พิเศษหรือไม่ หรือว่า มีค่าบริการเพิ่มไหม ถ้าใช้เกินแพ็คเกจ ที่จริงๆ แล้วจะต้องตอบมาให้ทั้งหมด
IT Exclusive: หมายความว่า คนทำธุรกิจโฮสติ้งจะต้องมีความรู้ในระดับหนึ่ง?
ภูมิจิต: ใช่ จะต้องมีความรู้ ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นการโกหกลูกค้า เช่น สมมุติบอกว่า อันลิมิเตดแบนวิธ เสร็จแล้วพอลูกค้ามาใช้จริงๆ จำกัดแบนด์วิธ ก็เป็นการโกหกลูกค้า และจะกลายไปเป็นปัญหาตามมา ทั้งที่จริงๆ แล้วทุกคนรู้ว่า ไม่ใช่ เพราะไอเอสพีก็ให้แบนด์วิธจำกัด
IT Exclusive: ปัญหาที่เกิดขึ้นในธุรกิจนี้ มีอะไรบ้าง ทั้งในแง่ของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ?
ภูมิจิต: ถ้ายังไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ในด้านของผู้ให้บริการต้องยอมรับว่า ยังไม่เป็นมืออาชีพ คือ ยังเป็นลักษณะเอสเอ็มอี (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) โดยเฉพาะเอสที่เยอะมาก ส่วนเอ็มจำนวนหนึ่ง ขณะที่ตัวอีหาตัวแทบไม่มีเลย อย่างไรก็ตาม เอสเยอะมาก คือ ทำแบบบ้านๆ อยากทำก็ทำแล้วจึงค่อยๆ โตขึ้น แต่ก็ยังเป็นระดับเอสอยู่
ไม่คิดว่า มีใครมีทุนจดทะเบียนเกิน 10 ล้านบาท และถ้ามีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาทจริงๆ ก็เป็นระดับเอสอยู่ ยกเว้นเป็นไอเอสพีรายใหญ่ๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อทำโฮสติ้ง แต่จดทะเบียนเพื่อทำเอไอเอสพี คราวนี้ ด้วยความที่ไม่มีทุนเยอะมาก ทำให้หลายๆ อย่างไม่สามารถร้องขอ หรือ ติดต่อ กับทางดาต้าเซ็นเตอร์ได้เท่าที่ควร
ยกตัวอย่างบางครั้งดาต้าเซ็นเตอร์ไฟดับ เครื่องเสียหาย ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า โฮสติ้งถูกลูกค้าด่ามา เพราะก็ไม่รู้ล่วงหน้าว่า ดาต้าเซ็นเตอร์จะดับไฟ ความเสียหายก็เกิดที่เรา ต้องอธิบายให้ลูกค้าฟัง ลูกค้าบอกเสียหาย คือ ความเสียหายจะเป็นทอดๆ แต่เราไม่สามารถไปไล่เบี้ยอะไรกับดาตาเซ็นเตอร์ได้ เพราะยังไม่ได้มีพาวเวอร์มากขนาดนั้น
ส่วนในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ คือ ความที่ไม่ต้องลงทุนเยอะจึงมีกลุ่มจับเสือมือเปล่าเยอะ และกลายเป็น ปัญหาว่า รับเงินล่วงหน้ามาและหายตัวไป อย่างไรก็ตาม การมีชมรม ก็ทำให้ลูกค้าสามารถเข้ามาคุยกันก่อนได้ โดยเราอาจจะแนะนำให้ไปดูกระทู้เก่าๆ และลองไปคุยกับผู้ให้บริการดู โดยจะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายคุยกันเอง เราไม่ได้เกี่ยว
ต่อมาจะกลายเป็นเรื่องของผู้ใช้ไม่เข้าใจ มีความต้องการและเงื่อนๆ ไขต่างๆ มากเกินไป เช่น คิดว่า เช่าโฮสต์แล้วจะต้องทำเว็บไซต์ให้ด้วย โดยเป็นปัญหาในลักษณะนี้ เยอะ ส่วนการวางบิลและเก็บเงินยากเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะลูกค้าต้องการต่อราคาให้ถูกที่สุด จ่ายเงินให้ช้าที่สุด แต่ด้วยความที่ส่วนใหญ่โฮสติ้งเป็นธุรกิจขนาดเล็กต้องการเงินหมุนเวียนเร็ว
IT Exclusive: ต้นทุนหลักๆ ของธุรกิจโฮสติ้งมาจากส่วนไหน?
ภูมิจิต: ค่าวางเซิร์ฟเวอร์และค่าจ้างพนักงาน เพราะพนักงานจะต้องอยู่คอยรับโทรศัพท์จึงต้องมีกะ หรือ มีเวร ดังนั้น จึงเป็นค่าใช้จ่ายจาก 2 ส่วนดังกล่าว เป็นหลัก ในส่วนของเรื่องซอฟต์แวร์มีพวกโอเพนซอร์สใช้เพียงเสียเวลาหาตัวใหม่ๆ มาลอง ขณะที่ในส่วนวินโดวส์นั้ ซื้อไลเซ่น ที่เป็นปีต่อปี ไม่ใช่จ่ายรายเดือนสามารถหารเฉลี่ยออกมาได้
IT Exclusive: มาถึงตรงนี้ นิยามจริงๆ ของธุรกิจโฮสติ้งคืออะไร?
ภูมิจิต: เป็นเพียงแค่ที่ฝากไฟล์ แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเข้าใจว่า ทำเว็บไซต์ด้วย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงการจะเช่าโฮสต์จะต้องมีเว็บไซต์ มีโดเมน คือ เป็นปัญหาลูกค้าไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับเรื่องอีเมล์ที่โฮสติ้งจะโพรวายเมล์เซิร์ฟเวอร์ให้ด้วย แต่ลูกค้าก็จะใช้ไม่เป็น เมื่อไม่ใช่ก็เต็ม พอเต็มก็ทำให้โฮสเต็มกลายเป็นปัญหางูกินหาง
IT Exclusive: บ่อยครั้งที่มีกระแสข่าวเว็บไซต์ถูกผู้มีอำนาจสั่งปิดและเกิดปัญหาโยนกันไปมาระหว่างโฮสต์กับไอเอสพี ดังนั้น เรื่องแบบนี้ เคยเกิดขึ้นหรือไม่ และอย่างไร?
ภูมิจิต: เวลาลูกค้าเข้าเว็บไซต์ไม่ได้จะต้องโทรฯ มาด่าโฮสต์ก่อน ดังนั้น ในแง่ที่เป็นโฮสติ้งจะเช็คก่อนเลยว่า โดเมนในเครื่องเดียวกันมีปัญหาหรือไม่ เพราะในเครื่องเดียวกันจะมีหลายโดเมน ที่ถ้าโดเมนอื่นๆ เข้าไม่ได้ด้วยหมายความว่า เครื่องของโฮสต์มีปัญหา หลังจากนั้น ต้องดูว่า ไอเอสพีเครื่องเข้าได้ไหม และเช็คต่อว่า ไอดีซีมีปัญหาหรือไม่ถึงจะรู้ว่า ปัญหาคืออะไร
ตรงนี้ จะต้องค่อยๆ ไล่เช็คไปทีละจุด แต่ลูกค้าจะต้องคิดว่า เป็นเพราะโฮสติ้งก่อน อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เคยเจอมาร้อยละ 70-80 เกิดจากลูกค้าไม่จ่ายค่าโดเมนเว็บไซต์จึงเข้าไม่ได้ เป็นเรื่องปกติมากๆ ที่ลูกค้าลืมต่ออายุโดเมนทำให้เว็บไซต์เข้าไม่ได้แล้วโทรฯ มาด่าโฮสต์
อย่างไรก็ตาม เรื่องการปิดเว็บไซต์จะมีหลายปัญหา โดยถ้าถูกปิดจริงๆ เอาแบบถูกต้อง คือ โดเมนลูกค้าไปทำสแปม เช่น บางคนเช่าโฮสต์และเอาอีเมล์นั้นส่งสแปมเมล์ไปเยอะจึงถูกไอเอสพีบล็อก โดยไอเอสพีสามารถบล็อกเป็นโดเมนได้ เพราะแบบนี้ ใครๆ ก็รับไม่ได้ และเราสามารถตรวจสอบได้
นอกจากนั้น ยังมีอีกกรณี คือ ไปติดไวรัสมาและทำการยิงเครื่องคนอื่นๆ โดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว ที่การติดไวรัสมีหลายเหตุผล อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่ถูกปิดแบบเป็นปัญหาก็มี เช่น การพนัน ขายของผิดกฎหมาย และลามกอนาจาร ส่วนการเมืองนั้น มักเป็นเรื่องที่ลือกัน ยังไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่ถ้าเป็นลายลักษณ์อักษรจะชัด
การปิดเว็บไซต์แบบลายลักษณ์อักษรจะชัด โดยจะมาเป็นขอปิดเว็บไซต์นี้ เนื่องจากเว็บไซต์นี้ ได้ทำการแบบนี้ มีความผิดเรื่องนี้ ที่จะชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในแง่ของโฮสติ้งจะชอบแบบที่เป็นลายลักษ์อักษร เพราะเวลาจะปิดจะได้บอกลูกค้าว่า ทำผิดอะไร ที่ถ้าไม่มีลายลักษณ์อักษรแล้วไปบอกลูกค้าจะต้องพิสูจน์กับลูกค้าอีก และสุดท้ายถ้าลูกค้าไม่คิดว่า ผิดและฟ้องกลับเราเสียหาย และเดือดร้อน
ตรงนี้ ปกติทางโฮสติ้งเองจะพยายามบอกว่า ขอแฟกซ์มาได้ไหม หรือ อีเมล์มาก็ยังดี หรือ ส่งเป็นจดหมายมาก็ได้ อย่าแค่โทรฯ มาบอกเลยเรื่องปิดเว็บไซต์ เพราะไม่รู้ใครโทรฯ มา โดยมีการกลั่นแกล้งกันด้วยและมีจริงๆ เพราะขนาดแจ้งเป็นอีเมล์มายังมีการกลั่นแกล้งกัน โดยส่งหัวเมล์มามั่วๆ ปลอมได้ แม้เราจะดูได้
ในแง่แอดมินจะรู้ระบบจึงจะโกหกกันลำบากหน่อย แต่ถ้าเป็นมือใหม่อาจจะตื่นตระหนกก็มี หรือ บางคนที่เป็นเว็บไซต์หมิ่นนิดๆ แต่รู้เทคนิคน้อยหน่อยจะตื่นตระหนกเยอะ
IT Exclusive: การมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มีผลดี-ผลเสียกับธุรกิจนี้ อย่างไร?
ภูมิจิต: ข้อดี คือ ทำให้แจ้งกับลูกค้าได้หลายอย่าง เช่น บางทีลูกค้าไม่อยากให้ข้อมูลก็บอกได้ว่า ตามกฎหมายผู้ให้บริการจะต้องรู้จักผู้ใช้บริการจึงขอเอกสาร และลูกค้าไม่กล้าปฏิเสธ ที่แม้จะเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่จำเป็นต้องทำตามกฎหมายลูกค้าก็จะให้ความร่วมมือ
ในแง่ดีอีก คือ เรื่องที่ทำผิดกันจริงๆ เช่น การแฮก ที่แม้ในความเป็นจริงจะยังมีอยู่ แต่คนทำจะระวังตัวมากขึ้น การแฮกเสร็จจะออกมาประกาศฉันทำแบบนี้ จะไม่ค่อยมี และไม่ได้ตั้งใจแฮกจริงๆ
ส่วนความเสียหายยังไม่ค่อยมีเท่าไร ผิดก็ว่าตามผิด จนเกิดกรณีการจับเจ้าของเว็บไซต์ 212 คาเฟ่ ที่ทำให้ชมรมฯ เดือด ร้อนมาก เพราะการจับในกรณีก่อนหน้านี้ เช่น กรณีของตั๊ก (บงกช คงมาลัย) ยังไม่มี พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดขึ้น แต่พอกรณีของเว็บไซต์ตลาดดอทคอมก็เป็นเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ
แต่พอมาเจอกรณีเว็บไซต์ 212 คาเฟ่ ของนายศิริพร สุวรรณพิทักษ์ ชื่อเล่นปุ๊ก สมาชิกของชมรมฯ และเป็นกรรมการสมาคมผู้ดูแลเว็บฯ ที่ว่า จับเจ้าของโฮสติ้งด้วย คือ ปุ๊กทำหลายอย่าง โดยในอดีตเคยทำฟรีโฮสต์ แต่พอมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จึงปิดทิ้ง เพราะควบคุมไม่ได้ แต่ก็ยังมีธุรกิจฟรีอื่นๆ คือ ฟรีเว็บบอร์ด ฟรีบล็อก ฟรีพิกโพสต์ และฟรีวีดีโอ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ฟรีเว็บบอร์ดหมายความว่า คนที่อยากมีเว็บบอร์ด แต่ทำไม่เป็น หรือ ไม่มี ไม่อยากจะไปลงโปรแกรมทำเอง ไม่อยากจะเช่าโฮสเพื่อสร้างเว็บบอร์ด สามารถสมัครสมาชิกที่ 212 คาเฟ่ แล้วจะได้ลิงค์มายาวๆ ตัวหนึ่งว่า เป็นเว็บบอร์ดของตัวเอง และสามารถตกแต่งอะไรได้
ส่วนสิ่งที่เจ้าของโฮสต์ หรือ เจ้าของเว็บไซต์ 212 ได้ คือ โฆษณาจากด้านข้างๆ บ้าง ข้างบนบ้าง หรือ ข้างล่างบ้าง แต่จะไม่ได้เก็บเงินค่าสมาชิกจากผู้ใช้บริการ แต่ปรากฎว่า เรื่องที่เกิด คือ มีคนมาสมัครสมาชิกเว็บบอร์ด แล้วนำเว็บบอร์ดนั้น ไปโพสต์รูปโป๊ บังเอิญรูปโป๊นั้น ถูกโพสต์โดยผู้ชายคนหนึ่ง ที่เมื่อเลิกกับแฟนจึงเอารูปลับในที่รโหฐานมาโพสต์ เจ้าทุกข์จึงไปแจ้งความที่กับตำรวจ ปดส. (ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชนและสตรี)
เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปดส. ก็โทรฯ มาที่สำนักงานของเจ้าของเว็บไซต์ 212 คาเฟ่ ให้จัดการนำภาพออก แต่เจ้าตัวไม่อยู่ โดยภรรยาเป็นผู้รับโทรศัพท์และไม่มีความรู้เรื่องนี้ จึงให้ฝากเบอร์โทรฯ ไว้ ปรากฎว่า การฝากเบอร์โทรฯ ทิ้งไว้ก็ต้องยอมรับว่า ภรรยาเจ้าของก็สะเพร่า ประมาทเลินเล่อ เนื่องจากทำเบอร์โทรหาย หรือ อาจะจะคิดว่า ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่รู้ ณ เวลานั้น เราตอบแทนความคิดไม่ได้
เอาเป็นว่า เมื่อได้เบอร์โทรมาก็ไม่ได้แจ้งปุ๊กทันที กว่าปุ๊กจะได้เบอร์ก็กินเวลาไปแล้ว 7 วัน และเมื่อปุ๊กได้เบอร์ก็ไม่ร้ว่า ตำรวจจริง หรือ ไม่จริงโทรมา จึงโทรฯ กลับเพื่อสอบถามว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้น เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่า ยูอาร์แอลนี้ เป็นปัญหา ก็เข้าไปดู และแจ้งเจ้าหน้าที่กลับไปว่า จะฟรีสยูสเซอร์นี้ เลย คือ ไม่ได้ลบ แต่ไม่ให้ใช้และเอาไปซ่อนไว้ตำรวจก็บอกว่า แล้ว แต่ เพราะติดต่อมาช้า
มาถึงตรงนี้ ปุ๊กก็คิดว่า โอเค ติดต่อกลับไปแล้ว ลบแล้ว ตำรวจรู้แล้วก็จบ โดยลบเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2551 แต่หลังจากนั้นอีก 20 วัน ตำรวจได้ออกหมายจับ และถูกจับ ที่ในแง่ของพวกเราและไม่ใช่เฉพาะชมรมฯ แม้กระทั่งคนในสมาคมผู้ดูแลเว็บฯ พูดตรงๆ ว่า ตลกกันมาก เพราะว่า หมายความว่า ให้ความร่วมมือกับตำรวจไปแล้ว เหตุการณ์ผ่านไปแล้วยังมาจับอีก
สรุป ดังนั้น ทุกวันนี้ ลบกันไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะที่สุดแล้วถ้าตำรวจจะจับก็ยังจับได้อยู่ดี เพราะคดีความมีอายุ 10 ปี โดยตรงนี้ จับตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ หรือ พูดง่ายๆ ว่า ผู้ให้บริการผิดเท่าผู้ใช้บริการ
IT Exclusive: จากนี้ ไปชมรมฯ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะในแง่ของผู้ให้บริการก็มองว่า ให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาแล้วเมื่อได้รับการร้องขอความร่วมมือ แต่ขณะเดียวกันกฎหมายก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุมได้?
ภูมิจิต: ตามปกติ หลังจากมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ แล้ว ปกติทางเจ้าหน้าที่ไอซีทีทำ คือ เมื่อมีความผิดเกิดขึ้นจะมีการทำเป็นหนังสือมา คือ แฟกซ์มา เพื่อแจ้งมาให้ทราบ โดยมีรายละเอียดต่างๆ เช่น ตอนนี้ มีเว็บไซต์นี้ เว็บไซต์นั้น อยู่ในเครื่องของคุณ มีความผิดตามมาตราไหนและขอให้คุณที่เป็นผู้ให้บริการทำการระงับการให้ บริการ เป็นต้น
คือ พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งมาเมื่อมีความผิดเกิดขึ้น ส่วนการจะดำเนินการตามที่เจ้าหน้าที่แจ้งหรือไม่อยู่ที่เรา ถ้าทำก็จบ ไม่ทำก็ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม แบบนี้ จะโอเคกว่า เพราะถ้าเกิดข้อสงสัยยังสามารถตรวจสอบได้ว่า มีความผิดจริงหรือไม่ เจ้าหน้าแจ้งหรือไม่ หรือ เป็นการกลั่นแกล้งกัน และยังเข้าไปดูได้ด้วยว่า ยูอาร์แอลนี้ ทำผิดจริงๆ นะ
IT Exclusive: เรื่องนี้ มองว่า ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ตรงไหน และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป?
ภูมิจิต: ในแง่ของเรา คือ ต้องการการแจ้งมากไปกว่าโทรศัพท์ เพราะบอกไม่ได้ว่า ณ วินาทีที่เจ้าหน้าที่โทรฯ มาใครเป็นคนรับ โดยต้องการอะไรที่เป็นลายลักษณ์อักษรมากกว่านี้ อีเมล์ก็ยังดี แต่จะขอให้เป็นในลักษณะที่เชื่อถือได้ มีอีเมล์มา มีจดหมายมาและมีเบอร์สามารถติดต่อกลับไปสอบถามได้จริงๆ
อย่างไรก็ตาม หากว่า ถ้ามีการลบสิ่งที่ผิดออกไปแล้วจะมาบอกว่า ไม่ให้ความร่วมมือได้อีกหรือ เพราะในตอนที่เกิดไม่รู้ เช่นในกรณี 212 คาเฟ่ มีเว็บบอร์ดอยู่ประมาณ 28,000 เว็บบอร์ด มีบล็อกประมาณ 20,000 บล็อก รูปภาพในระบบอีกเป็นล้าน ที่ค่อนข้างเกินวิสัยจะตรวจสอบได้
มีโอกาสคุยกับนายวันฉัตร เจ้าของเว็บไซต์พันทิปดอทคอม พันทาวก็เปิดให้ทำเว็บได้เหมือนกันยังบอกว่า จะไปสุ่มตรวจไม่รู้จะสุ่มจากอะไร ยูอาร์แอลเยอะเหลือเกิน และ 1 คน สามารถเพิ่มยูอาร์แอลขึ้นมาได้อีกเพียบ ที่ถ้าหน้าแรกๆ ไม่ได้บอกอะไรก็จะไม่รู้ว่า หน้าในๆ จะทำอะไร ถ้าไม่มีการแจ้งเข้ามาจะไม่รู้จริงๆ ค่อนข้างเกินวิสัย
IT Exclusive: ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีทางออกอย่างไร?
ภูมิจิต: คิดว่า น่าจะมีการตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับเว็บมาสเตอร์ทั้งหลาย ในประเด็นวิธีการติดต่อ โดยขอตกลงเรื่องวิธีการติดต่อเป็นประการแรก แล้วก็ในส่วนของทางสมาคมผู้ดูแลเว็บฯ ต่างจะมีเป็นคอนแทร็กพอยท์ สมมติว่า มีเรื่องจริงๆ แล้วติดต่อไม่ได้อาจจะประสานงานมาทางนี้ แล้วจะหาทางติดต่อช่วยกันเพื่อลดความเสียหาย
ตรงนี้ ผู้เสียหายก็เดือดร้อนเนื่องจากถ้ามีรูปไปโผล่บนเว็บไซต์เพียง 5 นาที ก็เหมือน 5 ปี แล้ว คนเสียหายก็เดือดร้อน ส่วนในแง่ของผู้ให้บริการก็เดือดร้อน แต่ไม่ใช่การเข้าข้างกันเอง แต่ควรจะจับให้ถูกคนและทำให้ถูกต้อง
IT Exclusive: ความเคลื่อนไหวต่างๆ จะชัดเจนเมื่อไร?
ภูมิจิต: ตอนนี้ พยายามทำอย่างระมัดระวัง เพราะก็กลัวว่า ถ้าออกแถลงการณ์ออกไปเกิดเหมือนไปปกป้องเพียงเว็บมาสเตอร์ก็จะเป็นการทำลายจิตใจผู้เสียหาย ดังนั้น จะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี และไม่ต้องการให้เราเดือดร้อนตลอด เวลา แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ใช่การเข้าข้างกัน ที่ไม่ต้องการแบบนั้น เพราะบอกไม่ได้ว่า เว็บมาสเตอร์ทุกคนเป็นคนดีและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
เรารับประกันแทนทุกคนไม่ได้ แต่เราจะบอกว่า วิธีการที่ทุกคนต้องการ คือ ให้เป็นแบบนี้ โดยเร็ว ๆ นี้ อาจจะมีการออกแถลงการณ์ โดยอยู่ระหว่างการปรับเนื้อหาในแถลงการณ์เพื่อไม่ให้เป็นการเข้าข้างมากเกินไปจนไม่คำนึงถึงผู้เสียหาย
IT Exclusive: มีอะไรฝากถึงผู้อ่านบ้าง?
ภูมิจิต: คือ ยูสเซอร์ ที่หมายถึงผู้ใช้ให้คิดถึงใจผู้ให้บริการหน่อย อย่างคิดว่า โพสต์อะไรไป เพียงคนที่คุณเกลียดเท่านั้น ที่เดือดร้อน โดยคุณอาจจะพาให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการที่ไม่รู้เรื่องเดือดร้อนไปด้วย ขณะที่การให้ความรู้ของเจ้าพนัก งานก็มีความสำคัญ จับผิดลงโทษคนผิดไปเลยหรือเปล่า
วิธีคิดต่อในทางไอทีอาจจะไม่ปกติเหมือนวิธีอื่นๆ เช่นว่า ต้องการความรวดเร็วก็จะต้องมีวิธีการที่เฉียบคมพอ หรือ มีความรู้ด้านไอทีเพียงพอถึงจะจับคนด้านไอทีได้ ไม่ใช่จะกวาดจับทุกสิ่งทุกอย่างไปก่อนถึงจะคัดออก เพราะผลเสียหายไปเยอะแล้ว
ส่วนวิธีการจับ การเอาเอกสาร หลักฐาน อายัดและจับกุม ดูเหมือนจะยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน โดยทุกคนต่างคนต่างทำ โดยในกลุ่มผู้ให้บริการด้วยกันเองก็ยังมีปัญหาเรื่องกฎหมายไม่เข้าใจ ภาครัฐควรให้ความสำคัญและให้ความรู้ผู้ที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้
Credit: http://thairath.co.th/news.php?section=tec...p;content=92664