-
ในวงค์การ IT สิ้นค้าราคาตกอย่างรวดเร็วครั้นจะตามซื้อรุ่นใหม่มาใช้
ก็ดูจะขัดต่อหลักพอเพียง ของเก่าก็อยากใช้แต่แตกแล้วก็หักจนไม่กล้าใช้
หากใครมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่พอซ้อมได้ ไม่เสียหายมากเช่น กรอบ Plastic ต่างๆของจอหรือ ตัวเครื่อง notebook
ก็แนะนำให้ลองซ่อมเองดูครับ ลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะไม่ต้องซื้อใหม่ แต่ก่อนจะซ่อมก็ให้ดูให้ดีว่ามีอุปกรณ์ต่างๆครบไหม
เพราะจะได้ไม่ทำ มันพังไปกว่าเดิม ของชิ้นสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ กาว แต่ว่ากาวที่เราๆท่านใช้รู้จักนั้นอันไหนเหมาะสำหรับงานอะไร
น้อยคนนักจะรู้วันนี้เลยนำมาให้อ่านกัน
-----------------------------------------
เมื่อสิ่งของที่มีค่าแตกหักเสียหาย และคุณต้องการซ่อมให้กลับมามีสภาพ (ใกล้เคียง) ดังเดิม สิ่งแรกที่คุณคงจะคิดถึงก็คือ กาว ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าคุณเลือกกาวได้ถูกประเภทและใช้อย่างถูกต้อง ของที่คุณซ่อมก็จะกลับฟื้นคืนชีพมาใหม่ แต่ถ้าเลือกกาวผิด หรือใช้ไม่ถูกแล้วล่ะก็ นอกจากจะเสียของแล้ว อาจจะเสียอารมณ์ที่กาวเกิดติดนิ้วอีกต่างหาก
แต่ก่อนบอกวิธีการเลือกใช้ ถ้าได้ทราบพื้นฐานและเกร็ดเล็ก ๆ ก็จะช่วยให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ใคร ๆ ก็รู้ว่ากาวเป็นวัสดุที่ใช้ยึดวัตถุ 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน โดยกาวส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่เรียกว่า โพลิเมอร์ (polymer) ซึ่งหมายถึง วัสดุซึ่งประกอบด้วยหน่วยย่อยที่เรียกว่า โมโนเมอร์ (monomer) มาต่อกันเป็นโมเลกุลสายยาว คล้ายกับเอาคลิบหนีบกระดาษแต่ละตัว (เทียบได้กับ โมโนเมอร์ 1 ตัว) มาต่อ ๆ กัน โดยอาจจะต่อเป็นสาย หรือมีกิ่งก้านสาขาด้วยก็ได้ การที่กาวมีสมบัติเหนียวก็เพราะว่า โมเลกุลสายยาวหลาย ๆ สายพันกันไปพันกันมานั่นเอง คล้ายกับสายสร้อยหลายเส้นที่ทิ้งไว้ปน ๆ กัน ซึ่งถ้าคุณพยายามดึงเส้นหนึ่งออกมา เส้นที่เหลือที่พันอยู่ก็จะตามออกมาเป็นพวง!
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็อาจแบ่งกาวได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้อย่างนี้ครับ
กาวพวกแรก เป็นพวกที่มีสายโซ่ของโมเลกุลยาวอยู่แล้ว แต่จะละลายหรือแขวนลอยอยู่ในตัวทำละลาย อย่างเช่น กาวน้ำ (ใส ๆ) กาวลาเทกซ์ (สีขาวขุ่น ๆ) หรือกาวยาง (สีเหลืองขุ่น ๆ ที่ใช้ติดพื้นรองเท้านั่นไงครับ) กาวพวกนี้ต้องรอให้ตัวทำละลายแห้งออกไปหมดเสียก่อน จึงจะแข็งและยึดติดสิ่งของบางอย่างได้ดั่งใจ คุณคงเคยเห็นช่างซ่อมรองเท้าทากาวบนพื้นรองเท้า (ที่ทำความสะอาดผิวแล้ว) แล้วปล่อยผึ่งไว้ซักพักจึงค่อยประกบ เพราะถ้าประกบทันที ก็ต้องรอกันนานกว่าจะซ่อมรองเท้าเสร็จ เรียกได้ว่าช่างซ่อมรองเท้าเขามี Know How ชั้นเยี่ยมในการใช้กาว โดยไม่ต้องรู้ Know Why ว่าโครงสร้างโมเลกุลของกาวที่ใช้อยู่นั้นมีลักษณะอย่างไร
กาวพวกแรกนี้มีจุดเด่นคือ ราคาถูก ใช้งานง่าย แต่มีจุดอ่อนคือ ไม่แข็งแรงมากนัก ไม่ทนความร้อน แถมถ้าไปโดนสารละลายเหมาะ ๆ เข้าก็จะเยิ้มกลับมาไหลใหม่ได้ (กาวที่ติดหลังแสตมป์ก็เป็นแบบนี้ ถึงได้ลอกออกได้ด้วยน้ำ)
กาวพวกที่สอง เป็นพวกที่เริ่มจากโมเลกุลเล็ก ๆ ซึ่งอาจจะเป็นโมโนเมอร์ตัวเดียว (คลิบหนีบกระดาษ อันเดียว) หรือไม่กี่ตัวมาต่อกัน (เรียกว่า พรีโพลิเมอร์ หรือ prepolymer) กาวแบบนี้จะใช้ปฏิกิริยาเคมีเพื่อทำให้ได้สายโซ่ยาว ตัวอย่างที่รู้จักกันดีก็คือ ซูเปอร์กลู หรือ กาวตราช้าง (แบบหลอดเดียว) (ชื่อเคมีคือ ไซยาโนอะคริเลต (cyanoacrylate) ตอนที่กาวตราช้างอยู่ในหลอดจะเป็นของเหลวใสไหลไปมาได้ง่าย (เพราะเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ) แต่พอบีบออกมา กาวจะแข็งตัวเนื่องจากโดนความชื้น โดยความชื้นนี่เองที่จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้โมเลกุลเล็ก ๆ มาต่อกันเป็นสายโซ่ยาว ๆ ทำให้กาวตราช้างใช้ติดวัตถุได้หลายชนิด เพราะว่าที่ผิวของวัตถุมักจะมีความชื้นเสมอ
แม้ว่ากาวตราช้างแบบหลอดเดียวนี้จะมีข้อดีคือ แข็งตัวเร็ว และยึดติดได้แน่นมาก แต่ก็มีจุดอ่อนที่ไม่ค่อยพูดถึงกันคือ กาวแบบนี้กลัวความร้อน แถมยังละลายได้ในสารละลายบางชนิดอีกด้วย ดังนั้นถ้าคุณคิดจะเอาไปติดหูกระทะก็คงจะเสี่ยงไปซักหน่อย เพราะถ้าบริเวณที่ติดกาวโดนความร้อน หูกระทะก็จะหลุดออกมาได้ เดี๋ยวจะหาว่าหล่อไม่เตือน!
ส่วนกาวในพวกที่สองอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า กาวอีพ็อกซี (epoxy) จะมี 2 หลอด หลอดหนึ่งมีชื่อเรียกว่า เรซิน (resin) ส่วนอีกหลอดหนึ่งเรียกว่า ตัวทำให้แข็ง (hardener) กาวอีพ็อกซีนี้ถ้าใช้แค่หลอดเดียวจะไม่เหนียว ต้องใช้ 2 หลอดผสมกันอย่างเหมาะสม ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า สารเคมีในหลอดแรกที่เรียกว่าเรซินนั้น มีโครงสร้างโมเลกุลเป็นสายโซ่สั้น ๆ (หรือ พรีโพลิเมอร์) ซึ่งยังไม่เป็นกาวแข็ง แต่ถ้าเติมตัวทำให้แข็งเข้าไป ตัวทำให้แข็งก็จะไปยึดสายโซ่สั้น ๆ เข้าด้วยกัน ทำให้ได้โมเลกุลใหญ่คล้ายร่างแห ส่งผลให้กาวอีพ็อกซีแข็งแรงมาก
กาวอีพ็อกซีที่ว่ามานี้มีจุดเด่นคือ แข็งแรงมาก แถมยังทนความร้อนและสารละลายได้ดีอีกต่างหาก แต่จุดอ่อนก็คือ ราคาแพง และถ้าเกิดเผลอทำติดไม้ติดมือขึ้นมาล่ะก็ยุ่งแน่!
สำหรับ กาวพวกที่สาม หรือพวกสุดท้ายนั้น จะมาในรูปของแข็งเป็นแท่งพลาสติกยาว ๆ และต้องใช้ปืนที่ให้ความร้อนทำให้หลอม กาวพวกนี้เริ่มต้นก็เป็นสายโซ่ยาว ๆ (คือเป็นโพลิเมอร์อยู่แล้ว) แต่เนื่องจากไม่มีตัวทำละลายจึงมีสภาพเป็นของแข็ง เวลาจะใช้ก็จะต้องให้ความร้อนทำให้กาวหลอมเหลวแล้วปล่อยให้เย็นตัวแข็งใหม่อีกครั้ง ตัวอย่างในเชิงพาณิชย์ก็เช่น กาวแท่งโพลิเอไมด์ (polyamide) และกาวแท่งโพลิเอทิลีนไวนิลอะซิเทต (polyethylene vinyl acetate) กาวพวกนี้มีจุดเด่นคือ ไม่ค่อยหดตัว แต่มีจุดอ่อนคือ ไม่ทนความร้อน (ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย)
เลือกใช้กาวอย่างไรให้ถูกกับงาน?
ผู้รู้แนะนำว่า ถ้ายังไม่คุ้นเคยกับกาวชนิดหนึ่ง ๆ ก็ให้ อ่านฉลาก (ถ้ามี) และเนื่องจากกาวเป็นสารเคมี ก็ระวังอย่าสูดดมไอของสารละลายเข้าไป หรืออย่าให้สัมผัสกับผิวหนังเป็นดีที่สุด แม้ว่ากาวบางชนิดจะไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนังก็ตาม สำหรับ กระดาษและไม้ แค่กาวใสและกาวลาเทกซ์ก็พอเอาอยู่ ส่วน แก้ว อาจจะต้องใช้กาวอีพ็อกซี หรือ กาวโพลิไวนิลบิวทีออล (เป็นกาวที่ใช้ในการผลิตกระจกนิรภัย) สำหรับ โลหะ อาจใช้กาวประเภทเทอร์โมเซตติง เช่น กาวอีพ็อกซี และกาวฟีนอลิก ส่วนพลาสติกนั้นถ้าเป็นพวกที่มีขั้ว เช่น โพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) อาจใช้กาวอีพ็อกซี หรือกาวโพลิยูรีเทน แต่ถ้าเป็นพวกที่ไม่มีขั้ว เช่น โพลิเอทิลีน (PE) และเทฟลอน (PTFE) จะใช้กาวติดได้ยาก จึงต้องมีการปรับสภาพผิวด้วยกรรมวิธีพิเศษที่เหมาะสมก่อน
ที่ว่าไปนั้นเป็นกาววิทยาศาสตร์ที่ใช้ติดยึดวัสดุ แต่ถ้าเป็นรอยร้าวระหว่างคนกับคน ต่อให้กาวไฮเทคขนาดไหนก็เอาไม่อยู่นะครับ ... ถ้าจะให้ดีก็ต้องใช้ กาวใจ ถึงจะพอมีหวัง -)
แหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์
ใครสนใจเรื่องกาว ขอแนะนำ http://www.cwu.edu/~chem/seminars/allabout...ves/tsld007.htm
ขอขอบคุณ ดร.ธนาวดี ลี้จากภัย นักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำหรับระบบการจัดแบ่งประเภทกาวและรายละเอียดหลายอย่างที่อ้างถึงในบทความน