PDA

View Full Version : บุญฤทธิ์ --ฤทธิ์ที่ทุกคนสร้างได้ง่ายๆ



akira
06-05-2010, 04:10 AM
บุญฤทธิ์ --ฤทธิ์ที่ทุกคนสร้างได้ง่ายๆ
รวมบรรยายโดย "ศิยะ ณัญฐสวามี" (อ.ไชย ณ พล)

บุญ แปลว่าการชำระ มีอาการคือการสละ มีผลเป็นอิสรภาพ มีรสเป็นความสุข มีผลต่อเนื่องเป็นฤทธิอำนาจ

ตามกฎธรรมชาติ ทุกสิ่งมีปฏิภาวะและมีแนวโน้มปรับสู่สมดุล ดังนั้นใครสละสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น ยิ่งสละมากก็ยิ่งได้โดยง่าย เช่น ในสมัยพุทธกาลมีคหบดีคนหนึ่ง เมื่อต้องการข้าวสารก็เพียงแต่ทำการวยยกขึ้นไปบนท้องฟ้า ข้าวสารก็จะไหลมาตามกรวยลงหม้อจนพอเพียง หรือเช่น บุคคลที่จะบวชกับพระพุทธเจ้า หากบุคคลใดมีจีวรทานโดยมาก พระพุทธเจ้าก็จะหยิบจีวรจากอากาศมาประทานให้ หากใครไม่ทำบุญด้วยจีวรทานมาก่อน พระพุทธองค์ก็จะให้ไปหาผ้าจีวรมาก่อนจึงจะบวชให้ เป็นต้น

ผู้ที่มีสิทธิ์ได้สิ่งใดโดยง่ายนั้นล้วนเป็นผู้เคยสละสิ่งนั้นมาก่อนโดยมาก นั่นเป็นไปตามกฎแนวโน้มแห่งดุลยภาพของปฏิภาวะที่ว่า การให้ย่อมก่อให้เกิดการได้

สิ่งที่ให้และได้นั้น มิได้หมายถึงเพียงสิ่งของเท่านั้น ยังหมายรวมถึงภาวะนามธรรมที่เป็นบุญรูปแบบต่างๆ ด้วย กล่าวคือ

1. บุญเกิดจากการให้ ทั้งให้สิ่งของ ทรัพย์ เวลา โอกาส สิทธิ การอภัย ล้วนเป็นบุญทั้งนั้น

2. บุญเกิดจากความมีวินัยในตนเอง คนจะมีวินัยในตนเองได้นั้นต้องสละกิเลส สละความเคยชิน และสละอารมณ์ที่กำเริบได้จึงจะบริหารตนให้อยู่ในวินัยได้ ความมีวินัยในตนเองจึงเป็นภาวะแห่งบุญประการหนึ่ง

3. บุญเกิดจากการฝึกอบรมจิตใจ คนจะฝึกอบรมจิตใจให้สงบ มั่นคง และเป็นสุขได้ ต้องกล้าสละความยึดถือ ผูกพันทางใจกับทุกสิ่งที่แปรปรวน และประคับประคองจิตด้วยสติอย่างต่อเนื่อง การภาวนาสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปจนปรากฏความสงบสุขและมั่นคงจึงเป็นบุญ อย่างยิ่ง

4. บุญเกิดจากความอ่อนโยน คนจะอ่อนโยนได้นั้นต้องสละความหยิ่งทะนง การถือตัวและความกร้าวของตัวตน ความอ่อนโยนจึงเป็นลักษณะของบุญประการหนึ่ง

5. บุญเกิดจากการขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น คนจะช่วยเหลือผู้อื่นได้นั้นต้องสละความเห็นแก่ได้ ความหวงแหนในความเป็นส่วนตัว การช่วยเหลือผู้อื่นจึงเป็นไปได้ และเป็นบุญนำมาซึ่งความสุข

6. บุญเกิดจากการอุทิศความดีให้ผู้อื่น เมื่อทำความดีมาโดยมากแล้ว ความเลวร้ายประการหนึ่งของคนดีคือการติดดี ยึดถือว่าความดีเป็นของตน ตัวเป็นคนดีอย่างโน้นอย่างนี้ จนก่อให้เกิดตัวตน ความจองหอง ความประมาทและความหายนะตามมา แท้จริงแล้วความดีนั้นดี การทำดีโดยเหมาะสมย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่การติดดีนั้นเลว ด้วยเหตุนี้พระพุทธบรมครูเจ้าจึงทรงสอนให้สละความดีอีกชั้นหนึ่งจึงจะโปร่ง โล่งและเกิดบุญสมบูรณ์ นี่คือที่มาของธรรรมเนียมอุทิศส่วนกุศลเสมอเมื่อได้ทำความดีชุดหนึ่งๆ

7. บุญเกิดจากการยินดีในความดีของผู้อื่น เมื่อมีคนทำความดีหรือได้ดีจากการทำดี ถ้าใครอิจฉา จิตใจของผู้นั้นจะตกต่ำ ถูกกดอยู่ในความไม่พึงใจและความไร้ ประโยชน์ทันที แต่ถ้ายินดีกับความดีและผลดีของผู้อื่น จิตใจของผู้นั้นจะอยู่ในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าความดีนั้นๆ การที่จะยินดีในความดีของผู้อื่นได้นั้นต้องสละความอิจฉา ริษยา และนิสัยมักเปรียบเปรยตนออกให้สิ้น ในวัฒนธรรมของผู้ดีจึงมีการแสดงความยินดีกับความดีของผู้อื่นเนืองๆ เพราะเป็นบุญประการหนึ่ง

8. บุญเกิดจากการศึกษาสัจธรรม ชีวิตของคนจำนวนมากผิดพลาดและล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะไม่เข้าใจสัจจะ หรือเข้าใจแต่ไม่เคารพสัจจะ สร้างความปรารถนาขัดแย้งกับกฎธรรมชาติ ป่ายปีนไปในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่เหมาะสมโดยโครงสร้าง การดำเนินชีวิตเช่นนี้เป็นชีวิตที่โง่ ดังนั้นการยอมสละปรารถนาแห่งความโง่และตัวโง่ออกจากชีวิต ยอมศึกษาและสำเหนียกสัจจะแท้ๆ แห่งธรรมจะทำให้สามารถบริหารชีวิตสู่ประโยชน์สูงสุดที่เป็นไปได้อย่างเป็น สุข การศึกษาสัจธรรมให้ถ่องแท้จึงเป็นบุญประการหนึ่ง

9. บุญเกิดจากการแสดงสัจจะ เมื่อรู้ เข้าใจ และยอมรับสัจจะแล้ว การแสดงออกซึ่งสัจจะผ่านวิถีชีวิต พฤติกรรม คำพูด และผลงานรูปแบบต่างๆ ก็เป็นบุญประการหนึ่ง เพราะทุกขณะที่แสดงธรรมผ่านกิริยาอาการต่างๆ เป็นการกำกับตนให้อยู่ในครรลองธรรมและเป็นการเหนี่ยวนำให้ผู้อื่นรู้ เข้าใจและได้ประโยชน์จากความเป็นจริงแท้ที่ล้ำค่าด้วย ด้วยเหตุนี้พระพุทธบรมครูเจ้าจึงตรัสว่า "การให้ธรรมเป็นทานย่อมชนะการให้ทั้งปวง"

10. บุญเกิดจากการทำความรู้ความเห็นให้ตรงความเป็นจริง ในที่สุด การปรับแม้ทุกความนึกคิดให้ตรงสู่สัจจะสูงสุดได้นั่นคือบุญอันยอด เพราะเมื่อทำเช่นนั้นได้ นั่นหมายถึงการบรรลุธรรมสูงสุดด้วยปัญญาอันสมบูรณ์ ชีวิตจะไม่ผิดพลาดอีกต่อไป อยู่ในสารัตถะแท้โดยสมบูรณ์

บุญเก่าบุญใหม่

ตรงนี้สิ่งที่ควรเข้าใจก่อนมีสองประเด็น คือ 1) การทำบุญในปัจจุบัน 2) การเรียกบุญในอดีตมาใช้

อย่างในกรณีที่แม่ค้าที่ขายดีกว่าเพราะทำบุญไว้ดีแล้วประการหนึ่ง และเพราะตั้งจิตไว้เป็นบุญในปัจจุบันอีกประการหนึ่ง สองสิ่งนี้จะต้องไปด้วยกันจึงจะเกิดผลขึ้นทันที

ทำบุญปัจจุบันนั้นเราทุกคนสามารถทำได้โดยทันที เริ่มต้นด้วยเจตนาแห่งบุญ คือไมว่าเราจะทำอะไรก็ตามถ้าเราตั้งจิตเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน มันเป็นบุญ

เหมือนพนักงานขาย ถ้าไปขายด้วยความคิดว่าฉันจะต้องทำยอดให้ได้เยอะๆ ฉันจะต้องเป็นเซลล์ที่ยิ่งใหญ่ อันนั้นเป็นบารมี แต่ไม่เป็นบุญ

หรือถ้าคิดว่าฉันจะต้องมีคอมมิสชั่น เท่านั้น เท่านี้ นั่นเป็นความโลภ จิตมันจะตึง

แต่ถ้าไปขายด้วยความคิดที่ว่า เรามีสินค้าดี เรามีของดี เราจะให้เพื่อนของเราได้รับของดีนี้ ทำให้ประชาชนเข้าใจของดีและได้ประโยชน์จากของดีนี้ ทั้งสามกรณีใจมันต่างกันนะ

+ใจคนหนึ่งทำด้วยอาการที่เป็นบารมี
+ใจคนหนึ่งทำด้วยอาการที่เป็นกิเลส
+ใจอีกคนหนึ่งทำด้วยอาการที่เป็นบุญ

คนที่เขารับรู้รับฟังคนที่มาด้วยใจที่เป็นบุญ เขาจะรู้สึกสบายใจที่สุด รู้สึกอิ่มเอิบไม่ระแวงแคลงใจ และตัดสินใจซื้อง่าย ซ้ำยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันด้วย

นี่คือตัวอย่างการตั้งใจให้เป็นบุญในปัจจุบันและผล

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เมื่อบุคคลใดตั้งจิตไว้ดีแล้ว สิ่งที่ดีทั้งหลายย่อมตามบุคคลนั้นไป เสมือนล้อเกวียนตามรอยเท้าโคกระนั้น ดังนั้น เมื่อเราตั้งจิตไว้เป็นบุญ มันจะไปเกี่ยวเหนี่ยวนำบุญในอดีตของเรามาประกอบกับบุญปัจจุบัน ที่นี้อะไรมันก็ง่ายไปหมด แต่ถ้าจิตเราตั้งไว้เป็นบาป มันจะไปเกี่ยวเหนี่ยวนำเอาบาปที่เราสะสมไว้มาประกอบกัน อะไรมันก็ยุ่งยากไปหมดเลย เพราะในชีวิตของเราตั้งแต่สมัยเป็นสัตว์เซลล์เดียวมาเป็นสัตว์หลายเซลล์ กระทั่งมาเป็นมนุษย์ในบัดนี้ เราทำกรรมดีและกรรมชั่วมาแล้วนับไม่ถ้วน ถ้าเราตั้งจิตไว้อย่างไร เราจะไปเกี่ยวเหนี่ยวนำเอากรรมอย่างนั้นจากธนาคารกรรมของเรานั่นเองมาใช้

การตั้งจิตไว้ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะทำหน้าที่อะไร อาชีพอะไรก็ตาม จงตั้งใจให้เกิดประโยชน์ต่อมหาชนแล้วมันจะเป็นบุญ เช่น ถ้าท่านเป็นครู ฉันมาสอนเพราะฉันอยากได้เงิน แค่นี้มันไม่เป็นบุญ แต่ถ้าคิดว่าฉันมาสอนเพื่อที่จะสร้างอนุชนที่เป็นแบบอย่าง สร้างคนดีในสังคม เพื่อให้คนดีเหล่านั้นเกื้อกูลสังคมต่อไป อย่างนั้นเป็นบุญ

ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา เป็นแพทย์ เป็นสื่อมวลชน เป็นอะไรก็ตาม ท่านสามารถตั้งจิตให้เป็นบุญได้ เพียงแต่ตั้งใจทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนให้กระจายกว้างออกไปสู่ สังคมโลกทั้งหลาย

เมื่อตั้งใจเป็นบุญปัจจุบันแล้ว หากรู้วิธีเรียกบุญเก่ามาใช้ด้วยก็เหมือนคนที่มีทุนเดิมและเอาทุนเดิม มาสร้างความสำเร็จใหม่ ย่อมสร้างได้เร็วและยิ่งใหญ่กว่าคนที่เริ่มใหม่หรือคนที่มีบุญเก่าแต่ไม่ รู้จักวิธีเอามาใช้

การเรียกบุญในอดีตมาใช้ก็คือการอธิษฐานใช้อำนาจบุญของตนที่สั่งสมไว้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ การใช้บุญเก่านั้นเราจะใช้เพื่อสร้างบุญใหม่คือเอาบุญมาต่อบุญให้งอกเงยเท่า นั้น เช่นเดียวกันกับเอาทุนมาต่อทุนให้งอกงามดุจเดียวกัน

เมื่อบุญเก่าและบุญใหม่ผนวกกันแล้ว ความสำเร็จต่างๆ จะง่ายกว่าไม่มีบุญเลย และเมื่อท่านประกอบกับหลักการบริหารที่เหมาะสมแห่งโลกด้วยแล้ว ความสำเร็จก็จะยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้นอีกอักโข

บุญนั้นทำให้สำเร็จโดยง่ายแม้ในสิ่งที่ยาก การบริหารที่เหมาะสมนั้นทำให้สำเร็จยิ่งใหญ่แม้ในสิ่งเล็กน้อย

เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้ว ต่อไปต้องเข้าใจบุญและกระบวนการสร้างบุญแต่ละประเภท และการบริหารที่เหมาะสม

พระพุทธเจ้าทรงให้เทคนิคหรือหลักสูตรในการสร้างบุญที่เป็นหลักใหญ่ๆ เลยมี 10 ประการ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ประพฤติอ่อนน้อม ขวนขวายในกิจผู้อื่น ฟังธรรม แสดงธรรม อุทิศส่วนกุศล อนุโมทนาส่วนกุศล และทำความรู้ความเห็นให้ตรงกับสัจจะ ทั้งหมดนี้คือบุญ เป็นขบวนการชำระจิตใจตนเอง

บุญแห่งน้ำใจและการให้

การให้ คือบุญประการแรกที่ทุกคนสามารถสร้างได้ การให้เป็นบุญใหญ่ เพราะถ้าให้ได้หมดทุกสิ่งแม้ตัวตน ก็หลุดพ้นเท่านั้นเอง

แต่กว่าจะถึงขั้นนั้น หัดให้จากที่ง่ายๆ ไปก่อน เช่นให้สิ่งของ ให้เวลา ให้โอกาส ให้ความเข้าใจ ให้ความรู้ หรือให้วิทยาทาน กับการให้อภัย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เราจะต้องทำความเข้าใจกัน จากนั้นจึงให้ธรรมะสัจจะที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าในบรรดาการให้ทั้งปวง การให้ธรรมประเสริฐสุด ไม่มีอะไรอื่นแล้วที่จะยิ่งไปกว่าการให้ธรรมทาน

การให้อื่นๆ นั้นพวกเราให้กันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ยิ่งให้มากโดยเหมาะสมก็ยิ่งมีบุญอันเกิดจากการให้มาก สิ่งที่ควรเข้าใจเพิ่มเติม คือ การให้อภัยและการให้ธรรม จากนั้นก็ควรเข้าใจวิธีการให้ที่เหมาะสมและอานิสงส์แห่งการให้

การให้อภัย

การให้อภัยเป็นการชำระที่ยอดเยี่ยม เป็นบุญที่ยอดเยี่ยม ยอดเยี่ยมอย่างไร

หนึ่ง มันชำระความแค้นในใจเรา ตราบใดที่เรายังไม่ให้อภัยคนอื่น มันมีความแค้นอยู่ และตราบใดที่ความแค้นมันยังอยู่ในใจเรา มันย่อมกัดกร่อนจิตใจเราไปเรื่อยๆ โดยลำดับ ทำให้เราทุกข์ตรมเศร้าหมอง ปีติสุขเหือดแห้งหดหายไป พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าความแค้นนั้นย่อมฆ่าผู้แค้นเสมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ กระนั้น คือขุยไผ่ยิ่งโตเท่าไรต้นไผ่ก็ยิ่งตายเท่านั้น ความแค้นยิ่งใหญ่เท่าไร จิตใจเราก็ยิ่งหมองไหม้เท่านั้น ดังนั้น การให้อภัยเป็นการชำระใจของเราโดยตรง นั่นประการแรก

สอง การให้อภัยคือการชำระกลไกกรรม กรรมไม่ดีทั้งหลายที่มันพัวพันกัน ผูกกันไว้ เหนี่ยวกันไว้ในส่วนที่ไม่ดีที่ต้องเกิดเรื่องไม่ดีกัน พออภัยให้แก่กันแล้วมันหลุดเลย กรรมนั้นกลายเป็นโมฆะ กรรมที่ไม่ดีเป็นโมฆะ ก็เหลือแต่สภาพที่เป็นกลางและดี เห็นไหม ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกลายเป็นดี เขาเรียกว่าเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร ใจเราก็สุข มันก็เหนี่ยวนำไปในทางที่ดี ทำอะไรทำด้วยกัน ช่วยกันคนละไม้ละมือ มันก็นำไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย นี่คือกลไกธรรมชาติ

เรื่องของการอภัย มันยังมีอีกประการหนึ่งที่จะต้องระวังไว้ ใจเราจะต้องพร้อมอภัยในทุกคน ทุกเรื่องเสมอ ตลอดเวลา แต่การประกาศอโหสิกรรมจะให้ได้ผลก็ต่อเมื่อคนที่เขาทำผิดนั้นเขาได้สำนึกผิด และได้ตั้งใจว่า ต่อไปนี้จะไม่ทำผิดอย่างนั้นอีก เมื่อนั้นเราประกาศอโหสิกรรมจึงจะได้ผล แต่ถ้าเขายังไม่สำนึกผิดแล้วเราไปประกาศอโหสิกรรมเสียก่อน เขาจะรู้สึกว่าทำผิดก็ไม่เป็นไร ใครก็ไม่ว่าอะไร มันก็จะสะสมความเข้าใจผิดและความผิดไปเรื่อยๆ

การให้ธรรมะ

การให้ธรรมทานมีอยู่สองระดับ ระดับหนึ่งคือให้ตัวสัจจะ ให้ตัววิธีการ ให้ตัวเทคนิค ระดับที่สองคือให้ตัวสภาวะ คือทำให้เขาเข้าสู่สภาวะได้จริงๆ ทำให้เขาสงบจริงๆ ทำให้เขามีความเชื่อมั่นจริงๆ ทำให้เขาบริสุทธิ์ได้จริงๆ

เราสามารถให้กันได้ทั้งสองส่วน ในส่วนแรกให้ด้วยการบรรยาย ด้วยการแนะนำ ส่วนที่สองให้ด้วยการนำปฏิบัติ การสร้างบรรยากาศหรือระบบระเบียบรองรับ

การให้ธรรมะนั้น ต้องให้ทั้งสองส่วนแล้วจะสมบูรณ์
การให้ที่เหมาะสม

การให้จะมีผลเป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่ เมื่อ

1) ให้สิ่งที่ควรให้

2) ให้แก่ผู้ควรได้รับ คือผู้ที่เขาสามารถได้ประโยชน์จากการให้นั้นจริง

3) ให้ในเวลาที่เหมาะสม คือเวลาที่เขาต้องการจริงๆ ถ้าเวลาที่เขาไม่ต้องการ เราไปยัดเยียดให้ ของเราจะไม่มีค่า เขาไม่นำไปใช้และไม่ได้อานิสงส์

4) ให้ในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่มากไป ไม่น้อยไป ไม่เบียดเบียนตนไม่กระทบคนอื่น การให้ทุกชนิด ถ้ามากไป น้อยไป ส่วนที่เกินไปนั้นไม่เกิดประโยชน์และมักเกิดโทษด้วยซ้ำ

5) ให้โดยเจตนาที่เหมาะสม คือ ถ้าให้เพราะจำใจ ผลบุญจะน้อยที่สุด ถ้าให้เพราะเกรงใจ ผลบุญน้อยมาก ถ้าให้เพราะทำตามๆ กันไป ผลบุญจะน้อย ถ้าให้เพราะเห็นว่าดี ผลบุญ ปานกลาง ถ้าให้เพราะยินดีและมีความสุขที่จะให้ ผลบุญมาก ถ้าให้เพราะสละ ละวาง ผลบุญมากที่สุด ดังนั้น จะให้ทั้งทีก็ควรให้บุญมากเข้าไว้เท่าที่จะตั้งเจตนารมณ์ได้ จะได้คุ้มแก่การให้

6) ให้โดยเคารพ คือโดยมีจรรยามรรยาท มิใช่โดยการดูหมิ่นดูแคลน หาเราให้โดยเคารพ เราก็จะได้รับโดยเรียบร้อยเช่นกัน

นั่นคือการให้ที่เหมาะสม

อานิสงส์แห่งการให้

การให้แต่ละชนิดมีอานิสงส์ต่างกัน เช่น

การให้ทรัพย์ จะทำให้หาทรัพย์โดยง่าย
กานให้อาหาร จะทำให้อุดมสมบูรณ์
การให้ผ้า จะทำให้ผิวพรรณงาม
การให้การรักษาพยาบาล จะทำให้สุขภาพดี
การให้ยานพาหนะหรือการเดินทาง จะทำให้ราบรื่น
การให้ความเข้าใจ จะทำให้ได้มิตรมาก
การให้อภัย จะทำให้ได้อิสรภาพ
การให้สรรเสริญ จะทำให้ได้ชื่อเสียง
การให้ความรู้ จะทำให้ได้ปัญญา
การให้ธรรมะ จะทำให้ได้ระดับวิวัฒนาการสูงขึ้น
การให้ชีวิต จะทำให้ได้บารมี เป็นต้น

เมื่อชีวิตต้องการหลายๆ อย่าง ก็ควรให้หลายๆ อย่างไปตามความเหมาะสมแก่บุคคล สถานการณ์และเป้าหมาย

นี่เป็นบุญแรกที่เราหมั่นสร้างสมให้กลายเป็นฤทธิ์ได้

บุญแห่งระเบียบวินัย

ระเบียบวินัยก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า กฎ กติกา มารยาท หรือ ศีล นั่นเอง
ศีล มาจากคำว่า ศิลา ศิลาแปลว่ามั่นคง คำว่าศีลหมายถึงสิ่งที่เราจะต้องทำให้มันมั่นคงในชีวิตของเรา ในความเป็นเราในตัวเรา

ก็อะไรบ้างที่เราจะต้องทำให้มั่นคง ก็คือสิ่งที่พระศาสดาของศาสนาทั้งหลายท่านแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า พระอัลเลาะห์ พระจีซัสไคร้ส และมหาบุรุษมากมายที่แนะนำกันไว้ แม้ท่านฤๅษีชีไพรทั้งหลายท่านก็แนะนำศีลและจริยธรรมในระดับของท่าน ทุกท่านทุกระดับก็จะมีศีล ซึ่งศีลทั้งหลายที่เราจะต้องทำให้มั่นคงคือสิ่งที่ท่านได้วิเคราะห์วิจัยและ ทดลองกันแล้วว่า สิ่งเหล่านั้นมีประโยชน์ที่จะทำให้ชีวิตของเรามีพลังมากขึ้น หรือทำให้ชีวิตของเราราบรื่นมากขึ้น และป้องกันโทษไม่ให้เราไหลไปสู่สิ่งที่ชั่ว สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดคือศีล เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่โกหกมดเท็จ ไม่ส่อเสียด ไม่ติดฉินนินทา ไม่เสพสิ่งมึนเมาเพื่อนความมึนเมา นอกจากเสพเพื่อเป็นยา เป็นต้น

สิ่งที่เราควรเข้าใจในการสร้างฤทธิ์แห่งศีลคือ ขบวนการประพฤติศีล พลังแห่งศีล ศีลในฐานะมาตรฐานแห่งชีวิต ศีลคือกติกาการดำรงอยู่ร่วมกัน และอานิสงส์ของศีล

ขบวนการประพฤติศีล

เมื่อเราทราบแล้วว่าศีลมีประโยชน์จริง ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดศีลได้ ขบวนการที่ทำให้เกิดศีล คือ

1) เราจะต้องเข้าใจด้วยปัญญา สามารถจำแนกสิ่งที่มีคุณมี่โทษในทุกระดับได้ว่าสิ่งใดมีค่าของความเป็นคุณ ประโยชน์เท่าไร มีค่าความเป็นโทษเท่าไร หรือผสมผสานกันอยู่ในอัตราส่วนเท่าไร เราจะดึงคุณจากสิ่งนั้นมาใช้ได้อย่างไร จะควบคุมโทษได้อย่างไร

2) เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราจะต้องตั้งใจเป็นแม่นมั่นว่า เราจะประพฤติเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์และละสิ่งที่เป็นโทษโดยประการทั้งปวง ตั้งแต่เรื่องหยาบๆ พอละเรื่องหยาบๆ ได้ก็ทำให้ละเอียดยิ่งขึ้น แม้กระทั่งความคิด พอละเอียดถึงที่สุด แม้แต่ดำรินิดเดียวก็ไม่ผิดเลย นั่นคือ ความตั้งใจที่จะประพฤติจริงๆ ในทุกระดับ ทั้งในระดับกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

3) พอไม่ผิดเลย มันก็กลายเป็นปกติของเรา พอเป็นปกติของเรามันคือนิสัย พอเป็นนิสัย โบราณกาลท่านบอกว่าผู้ประพฤติธรรม ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม พอเป็นนิสัย สภาวะธรรมคือสภาวะแห่งศีลมันจะคุ้มครองเราเองไม่ให้เราตกไปสู่สิ่งที่ชั่ว เพราะแม้คิดชั่วเราก็ไม่มีแล้ว ดังนั้น การไหลไปในสิ่งที่ชั่วมันจะไม่มีเป็นอันขาด

จากนั้นศีลจะเป็นระเบียบวินัยแห่งชีวิต

พลังแห่งศีล

ระเบียบวินัยนี้เป็นเรื่องง่ายๆ แต่ยิ่งใหญ่มหาศาล เหมือนเหล็กตอนที่มันเป็นเหล็กธรรมดาโมเลกุลมันไม่เป็นระเบียบ อิออนก็กระจัดกระจาย กระแสไฟฟ้าก็ไหลผ่านได้ พอเราทำโมเลกุลของมันให้เป็นระเบียบ ผ่านขบวนการกลั่นตัวตามธรรมชาติ ขจัดเสี้ยนแร่อื่นๆ ออกเหลือแต่โมเลกุลเหล็กล้วนๆ โมเลกุลมันจะจัดเรียงตัวกันเป็นระเบียบ สมบูรณ์ พอเป็นระเบียบเสร็จแล้วพลังของแต่ละโมเลกุลมันจะเสริมผสานกัน จนกระทั่งกลายเป็นสนามแม่เหล็กแผ่ออกมารอบตัว มีอำนาจในการดึงดูด มีอำนาจในการเหนี่ยวนำ มีอำนาจในการปกป้องตัวเอง กระแสไฟฟ้าเข้าไม่ได้ คนเราก็เช่นกัน ถ้าประพฤติศีลจนเป็นปกติเป็นนิสัยจนมีระเบียบวินัยในตัวเอง เป็นมาตรฐานแห่งชีวิต พอมีระเบียบวินัยในตัวเองจะมีพลังในตัวเอง

ศีล จึงเป็นบุญ เป็นแหล่งพลังที่นำมาซึ่งความสำเร็จโดยง่าย หรือที่เรียกว่าบุญฤทธิ์ ที่พวกเราทุกคนฝึกและสร้างได้แน่นอน

ศีล คือ มาตรฐานแห่งชีวิต

โดยความเป็นจริง ศีลเป็นมาตรฐานของความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างจากมาตรฐานของสัตว์ มาตรฐานของมนุษย์จะต้องมีศีลรองรับจึงสามารถเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ ใครที่เกิดมาเป็นมนุษย์มีมาตรฐานของศีลอยู่แล้วระดับหนึ่ง อย่างเช่น ตอนเกิดแสดงให้เห็นชัดแล้วว่ามีมาตรฐานของศีล แต่พอโตๆ ไปถูกความคิดเห็นที่ผิดเข้ามายั่วเย้าดึงไปในอารมณ์ด้วยเหตุต่างๆ มากมาย ความผิดศีลจึงเกิดขึ้น อย่างเช่นข้อลักทรัพย์

นิสัยลักทรัพย์จริงๆ แล้วไม่ใช่นิสัยของมนุษย์ เป็นนิสัยของแมว จึงเรียกว่าแมวขโมย แมวมันชอบขโมย ส่วนการจี้ปล้นเป็นนิสัยของเสือ เขาจึงเรียกโจรว่าไอ้เสือ ดังนั้น นิสัยลักทรัพย์จี้ปล้นจึงเป็นนิสัยของแมวของเสือ ไม่ใช่นิสัยของคน เป็นคนแล้วจะต้องมีมาตรฐานไม่ลักทรัพย์

หรือนิสัยพูดปดไม่ใช่นิสัยของคน คนคิดก่อนพูด แต่ถ้าพูดโดยไม่คิด ส่อเสียดนินทาเจื้อยแจ้วเรื่อยไปเป็นนิสัยของนก ไม่ใช่ของคน ถ้าคนไปทำนิสัยนกแสดงว่าเพิ่งพัฒนามาเป็นคนใหม่ๆ หรือกำลังจะตกวิวัฒนาการกลับไปเป็นนกอีก อย่างนี้เป็นต้น

ดังนั้น ศีลเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของความเป็นมนุษย์เลยทีเดียว

ศีล คือ กติกาการดำรงอยู่ร่วมกัน

อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ลนั้นช่วยสร้างสังคมได้ นอกจากสร้างตัวเองแล้วยังสร้างสังคมได้ด้วย

ท่านทั้งหลายลองนึกถึงสภาพสังคมที่ทุกคนเป็นคนดีหมด มันจะมีความสงบ แต่ถ้ามีคนไม่ดีขึ้นมา มันต้องมีปืน เริ่มใช้อาวุธขึ้นมา คนดีก็ต้องหาอาวุธป้องกัน พอหาอาวุธป้องกัน ความคึกคะนองในการมีอาวุธและในความได้เปรียบมันก็กำเริบขึ้น อย่างเช่นเราโกรธเมื่อเวลามีคนขับรถปาดหน้า ทั้งๆ ที่ปกติเราเป็นคนดีแต่พอเจอสิ่งที่ไม่สมควรหรือไม่เป็นธรรมหรือทรามยิ่งๆ ความติดดีอาจทำให้เราฉุนเฉียวขึ้นมาคว้าปืนออกมายิงเลย จากความติดดีเลยทำให้ความไม่ดีมันกำเริบขึ้นมา ดังนั้น ศีลนั่นแหละที่จะเป็นมาตรฐานกำกับพฤติกรรมของท่านไม่ให้ตกไปสู่สิ่งที่ชั่ว ไมให้เรื่องเลวร้ายเกิดจขึ้นในสังคม และถ้าทุกคนมีศีลในระดับเดียวกันก็จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

นอกจากสังคมจะสงบ มีสวัสดิภาพดี ท่านทั้งหลายลองคิดดู ถ้าทุกคนมีศีลหมด ไม่โกหกเลย ทุกคนเชื่อถือได้หมดไม่ต้องมีสัญญาเพราะทุกคนพูดความจริงหมด ดังนั้นความเชื่อถือได้คือเครดิต นั่นคือศีลสร้างเครดิต แล้วเครดิตก็ก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์มากมาย สิทธิประโยชน์ทำให้เกิดภาวะง่ายที่จะทำอะไรต่างๆ นานา นี่คือประโยชน์ของสัจจะที่เป็นข้อหนึ่งของศีล

เต๋า จึงบอกว่า ถ้าธรรมะยังอยู่ ทุกคนจะสงบสุขและสร้างสรรค์แต่ถ้าธรรมะสูญหายไป จึงเกิดจารีตประเพณีขึ้น เมื่อจารีตประเพณีหายไป จึงเกิดวัฒนธรรมมาเป็นตัวกำกับ เมื่อวัฒนธรรมหายไป กฎหมายจึงเกิดขึ้น กฎหมายเมื่อเกิดขึ้นใหม่ๆ ก็เป็นแบบไม่มีลายลักษณ์อักษร พอกฎหมายหายไป พันธสัญญาจึงเกิดขึ้น แม้ปฏิบัติตามกฎหมายก็ปฏิบัติไม่ได้ จึงต้องมีพันธสัญญากัน เมื่อสัญญาก็เชื่อถือไม่ได้ จึงมีบทลงโทษและการบังคับควบคุมขู่เข็ญขึ้น เมื่อความละเอียดปกระณีตลึกซึ้งคือศีลธรรมค่อยๆ เสื่อมไป ความหยาบที่จะต้องมาบังคับกำกับกัน เช่น บทลงโทษพันธสัญญา หลักประกันมันจึงเกิดขึ้น

ดังนั้น สังคมที่มีศีลจริงๆ จะเป็นสังคมที่อ่อนสลวย เป็นสังคมที่สงบสุข เป็นสังคมที่สร้างสรรค์ นั่นเชิงสังคมที่ปกติ

ถ้าทุกคนมีศีล ในความมีศีลมันจะทำให้ลงกัน แต่กิเลสมันทำให้ไม่ลงกัน

พอทุกคนมาอยู่บนบรรทัดฐานของมาตรฐานเดียวกัน มันก็ลงกัน ไม่มีปัญหาขัดแย้งกัน พอลงกันไม่มีปัญหาขัดแย้งกันก็เกิดระเบียบวินัยของกลุ่มขึ้น พอเกิดระเบียบวินัยของกลุ่มมันเกิดการรวมพลังกันภายในกลุ่ม พอเกิดการรวมพลังภายในกลุ่มก็เกิดความสมานสามัคคี ความสมานสามัคคีเกิดพลังชั้นที่สอง ชั้นที่สาม กลายเป็นเทีมเวิร์คที่มีประสิทธิภาพ ในกลุ่มคนที่ไม่มีศีลที่ไหนมีทีมเวิร์คที่ดีบ้าง ทีมเวิร์คที่ดีจะต้องมาจากกลุ่มคนที่มีศีลมีจรรยามารยาทงามเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำของหัวหน้ากลุ่ม

เคยวิจัยเกี่ยวกับเรื่องจรรยาบรรณของธุรกิจ โดยถามไปว่าเหตุที่ท่านไม่มีจรรยาบรรณในขณะที่ท่านอยู่ในที่ทำงาน มีอะไรเป็นเหตุใหญ่ที่สุด ประมาณ 50% บอกว่าเพราะผู้นำไม่มีจรรยาบรรณ ฉันจึงไม่มีจรรยาบรรณด้วย

พระพุทธเจ้าก็บอกไว้ว่า ถ้าในยุคใดสมัยใดก็ตามที่ผู้นำสังคมมีจรรยาบรรณดี ข้าราชการ คหบดีในสังคมทุกคนจะดี แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ผู้นำไม่ดี ข้าราชการ คหบดีในสังคมทุกคนจะไม่ดีไปด้วย ภาวะการนำของขบวนการกลุ่มต้องอาศัยศีลธรรมเป็นตัวนำ สังคมจึงจะสมานสามัคคี สังคมจึงจะมีพลังสร้างสรรค์ นี่จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นสร้างสังคมทั้งสังคม

เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเคยบอกกับผมว่า จริงๆ คนไทยกับคนญี่ปุ่นระดับความสามารถไม่แตกต่างกันเลย สิ่งเดียวที่แตกต่างกันคือระเบียบวินัย คนญี่ปุ่นเป็นคนมีระเบียบวินัยไม่ว่าจะมีระเบียบวินัยในตนเองหรือในกลุ่ม แต่คนไทยเป็นคนทีทำอะไรตามใจฉัน แล้วใจของใครมันเหมือนกันบ้าง ใจของแต่ละคนมันก็ไปคนละทิศทาง มันจึงไม่มีระเบียบวินัยของกลุ่ม จึงไม่มีการรวมพลังกันอย่างแท้จริง

ฉะนั้น ศีล นอกจากจะสร้างตัวคนแล้วยังสร้างกลุ่มสังคมสร้างประเทศชาติได้ด้วย ควรเคารพกติการ่วมกันให้เป็นกฎในใจ ให้เป็นมโนสำนึกประจำตัวคนจริงๆ

กฎหมายนั้นให้พิสดารขนาดไหนก็ไม่มีทางจะมาควบคุมมนุษย์ได้ดีเท่ากับตัวเขา ควบคุมตัวเขาเอง ด้วยสำนึกของเขาเอง

ก็ถ้ามนุษย์ควบคุมตัวเขาเองได้ด้วยมโนธรรม จะต้องมีกฎหมายอะไรอีก ไม่จำเป็นเลย แต่ถ้าจะมีบ้างก็เพื่อเป็นหลักประกันเป็นกรอบแนวคิดเฉยๆ

อานิสงส์แห่งศีล

ศีลแต่ละข้อนั้นมีอานิสงส์ต่างกัน เช่น

การไม่ฆ่าสัตว์จะทำให้ท่านมีสุขภาพปกติ ไม่พลัดพราก

การไม่ลักทรัพย์จะทำให้ท่านสามารถรักษาทรัพย์ได้ ไม่สูญหายหรือสูญเสียในภัยต่างๆ คือโจรภัย วาตภัย อัคคีภัย และอุบัติภัย เป็นต้น

การไม่ประพฤติผิดในกามจะทำให้ครอบครัวของท่านมั่นคงและบริวารว่านอนสอนง่าย

การไม่โกหกจะทำให้ท่านได้รับความเชื่อถือ มีเครดิตและสิทธิพิเศษ ถ้าสามารถรักษาสัจจะได้ด้วยชีวิต หลังจากนั้นท่านจะเป็นคนมีวาจาสิทธิ์พูดอย่างไรเป็นอย่างนั้นเสมอ

การไม่มึนเมาจะทำให้ท่านมีสติสัมปชัญญะดี ไม่พลั้งเผลอ ควบคุมตนเองได้ บริหารสถานการณ์ได้ และเข้าสมาธิได้โดยง่าย เป็นต้น

บุญแห่งการภาวนา

บุญประการที่สามคือการภาวนา ภาวนาคือการทำให้เกิดขึ้น ภาวนานี้จะเชื่อมโยงกับตบะ ตบะแปลว่าการทำให้ตั้งมั่น

ตัวภาวนาเองคือทำให้เกิดขึ้น ทำอะไรให้เกิดขึ้น ทำสมาธิทำปัญญาให้เกิดขึ้น เราจะได้ยินอยู่สองคำก็คือสมถะภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ทั้งสองมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันคือต้องการให้เกิดสมาธิและปัญญา สมาธิและปัญญามันจะเชื่อมต่อกัน

ในขั้นนี้จะต้องมี...

- ความเข้าใจที่ถูกต้อง
- ผลานิสงส์ของการภาวนา
- วิธีภาวนา
- ธรรมชาติของจิตกับความบ้า และ
- การฝึกจิตให้สัมฤทธิ์ผล

ความเข้าใจที่ถูกต้อง

สติเป็นพื้นฐานของสมาธิ
สมาธิเป็นพื้นฐานของปัญญา
สติสัมปชัญญะ คือทำความรู้ตัวทั่วพร้อมให้ปรากฏ เป็นพื้นฐานของทุกสิ่งรวมกัน สติสัมปชัญญะจะทำให้เกิดสติ สมาธิ ปัญญา โดยธรรมชาติ

สติสัมปชัญญะจะทำให้กลับมารู้จักตนเอง ส่วนสติปัญญาจะทำให้เข้าใจความเป็นจริง

สมาธิกับปัญญานั้นมันเป็นตัวเสริมซึ่งกันและกัน หมายความว่าถ้าเรามีสมาธิมาก ปัญญาของเราก็จะยิ่งกว้างใหญ่ไพศาล พอเรามีปัญญามากเราก็จะยิ่งเข้าสมาธิได้ลึกซึ้ง

สมถะกับวิปัสสนาคือสองสิ่งที่จะต้องไปด้วยกันตลอด เหมือนคนละด้านของเหรียญเดียวกัน คือด้านหัวกับด้านก้อย ในขณะที่เราหงายด้านหัวขึ้นก็ต้องมีด้านก้อยรองรับ ขณะที่หงายด้านก้อยขึ้นก็ต้องมีด้านหัวรองรับ หมายความว่าในขณะที่เราจะเจริญวิปัสสนาให้ได้ผลเราจะต้องมีสมถะรองรับเสมอ

ถ้าจะเปรียบอีกอย่างได้อย่างนี้ วิธีการปฏิบัติทางจิตใจ สมถะเหมือนการเดินหน้าเข้า คือดำดิ่งจิตไปเลย ทำจิตให้สงบ ดิ่งมุ่งมั่นลงไปสู่ความสงบ ความเวิ้งว้าง ความบริสุทธิ์ เรียกว่าเดินหน้าเข้า ส่วนวิปัสสนาเหมือนถอยหลังเขามองข้างนอกก่อน เช่น

มองโลกเป็นของไม่เที่ยง ปล่อยวางโลก
มองสังคมเป็นของไม่เที่ยง ปล่อยวางสังคม
มองร่างกายเป็นของไม่เที่ยง ปล่อยวางร่างกาย
มองความคิดก็ไม่เที่ยง ปล่อยวางความคิด
มองความรู้สึก ความรู้สึกก็ไม่เที่ยง ปล่อยวางความรู้สึก

พอปล่อยไปเรื่อยๆ มันก็เข้าไปสู่ความสงบล้ำลึกเหมือนกัน พอเข้าไปสู่ความสงบล้ำลึกก็ได้ปัญญาญาณอันยิ่งใหญ่เช่นกัน ฉะนั้น สมถะเหมือนเดินหน้าเข้า วิปัสสนาเหมือนถอยหลังเข้า แต่มันเข้าไปสู่ที่เดียวกัน คือมันเข้าไปสู่ความสงบ ความสะอาดหมดจด พอมันสะอาดหมดจดมันจึงเป็นบุญ เพราะบุญคือการชำระให้บริสุทธิ์

กระนั้นสมถะกับวิปัสสนาต้องไปด้วยกันและอาศัยกันเสมอ เพราะข้างหน้าข้างหลังเป็นอยู่ด้วยกันตลอด เพราะมันเป็นสองด้านของสิ่งเดียวกัน คือมันไปด้วยกันเพียงแต่จะเอาด้านไหนเป็นตัวนำ ด้านไหนเป็นตัวตามเท่านั้น แต่มันต้องติดกันไปตลอดไม่อาจพรากจากกัน ถ้าพรากจากกันเมื่อไรก็หลุดจากกรรมฐาน

ผลานิสงส์ของการภาวนา

เมื่อภาวนาคือการทำให้เกิดขึ้น ทีนี้อะไรที่เราต้องทำให้เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าบอกว่าเมื่อเราภาวนาแล้ว เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ให้เกิดขึ้นได้ คือ

1) ความสุข ความสุขเกิดขึ้นแน่ๆ จากการภาวนา
2) ปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นแน่ๆ จากการภาวนา
3) อำนาจ มันจะมีพลังอำนาจเกิดขึ้นจากการภาวนา
4) ความบริสุทธิ์ ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ จะเต็มรอบโดยลำดับขึ้น

ทั้งหมดนี้คือขบวนการแห่งบุญอันเกิดจากการภาวนา

คิดดู ความสุขใครไม่ต้องการ ปัญญาใครไม่ต้องการ อำนาจในตนเองใครไม่ต้องการ ความบริสุทธิ์ใครไม่ต้องการ ทั้งหมดนี้คือสุดยอดของคุณค่าของชีวิตเลยทีเดียว เราสามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยการภาวนา

วิธีการภาวนา

ทำอย่างไรล่ะเราจึงจะภาวนาให้ได้ผล และภาวนาวิธีไหนดีที่สุด ถ้าภาวนาหลายๆ วิธีตีกันไหม อันนี้เป็นคำถามที่ได้ยินได้ฟังมามาก

เคยตั้งใจไว้ว่าจะฝึกภาวนาทุกวิธีที่มีอยู่อยู่ในโลกนี้ ก็ไปฝึกมาเกือบหมดเกือบทุกศาสนา ไปฝึกจากหลายๆ อาจารย์ กับฤๅษีหลายท่าน กับพระหลายท่าน ฝึกตามคัมภีร์หลายคัมภีร์ในหลายศาสนา และตามเทคนิคในศาสตร์สมัยใหม่ต่างๆ มากมายจึงได้พบความจริงว่าเทคนิคต่างๆ ของการฝึกจิตมันเหมือนอาหารต่างๆ แต่ละประเภท พอเรากินหลายๆ อย่างๆ ถามว่าอาหารมันต